24 ตุลาคม 2024

กสทช. ยังโดนอ่วม กฎมัสต์แฮฟ ‘สุภิญญา’ถาม ‘ใครมีส่วนในเงิน600ล้านบ้าง’

0

กรณี สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้ให้เงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) จำนวน 600 ล้านบาท แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อนำไปเป็นเงินตั้งต้นในการดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) แต่ด้วยกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) และมัสต์แครี่ (Must Carry) ของ กสทช. ทำให้ประชาชนไทยไม่สามารถรับชมฟุตบอลโลก 2022 ได้ทุกช่องทางอย่างทั่วถึง

ขณะที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุนเงินเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ จำนวน 300 ล้านบาท ในการถ่ายทอดสด และมีสิทธิเลือกคู่ถ่ายทอดสำคัญก่อนแบบไม่จับสลาก และขอให้ดำเนินการถ่ายทอดการแข่งขัน โดยไม่ละเมิดสิทธิของกลุ่มทรู เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันบนระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial Transmission) จะมีการนำไปเผยแพร่ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 ได้เฉพาะบนระบบดาวเทียม (Satellite Transmission) และระบบเคเบิล (Cable Transmission) เท่านั้น ไม่รวมถึงบนระบบไอพีทีวี (IPTV Transmission) ระบบอินเตอร์เน็ต (Internet Transmission) ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Transmission) และระบบ OTT จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์จำนวนมาก เพราะไม่สามารถรับชมได้อย่างทั่วถึง บางที่มีปัญหาจอดำ รวมถึงการเชื่อมต่อขัดข้อง เป็นต้น

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เงินจากกองทุน กทปส.ที่ใช้สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก จำนวน 600 ล้านบาท ครั้งนี้ มาจากบัญชีที่ 1 ของกองทุน ที่สำนักงาน กสทช.มีการจัดตั้งงบประมาณสนับสนุนเข้ากองทุนทุกปี เพื่อนำไปใช้ในทุกวัตถุประสงค์ โดยส่วนนี้มีอยู่ 2,600 ล้านบาท และเมื่อหักลบกับมูลค่าที่สนับสนุนดังกล่าว ทำให้ขณะนี้ คงเหลือ 2,000 ล้านบาท และบัญชีที่ 2 เป็นส่วนของผู้ประกอบการ ที่แบ่งรายได้เข้ามาปีละ 150 ล้านบาท ขณะนี้ คงเหลือ 900 ล้านบาท ไม่ได้มีการนำไปใช้

เรื่องนี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ทวีตระบุข้อความในบางส่วน ว่า Hello #NBTC !! [ที่ไม่ใช่ NB for TC;]กสทช.ที่รัก ตกลงเข้าใจกติกา Must Carry | Must Have ถูกต้องจริงไหม ตอนอนุมัติเงิน 600 ล้านก็อธิบายอย่างนึง พอให้ไปแล้วก็อธิบายอีกอย่าง งงกันทั้งประเทศ จะขออนุญาตอธิบายให้ฟังด้วย จากข้อเท็จจริงที่ผ่านมาในอดีต ถึงกรณีปัจจุบัน #บอลโลก2022

หมายเหตุ : กรณีการถ่ายทอดผ่าน IPTV ทั้งหลาย ก็อยู่ในกลุ่มประเภทกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ด้วยค่ะ ที่ต้องให้มีการ Must Carry แบบ Pass through ในทุกแพลตฟอร์ม คนละอันกับในแอพพลิเคชั่น หมายความว่าผู้บริโภคต้องดูการถ่ายทอดในช่องทีวีผ่านเครื่องมือถือได้ด้วย

ข้อสอบวันนี้ ถามว่า AIS Play 3BB NT รวม TrueID ด้วย ถือเป็นผู้รับใบอนุญาต IPTV หรือการบริการทีวีบนอินเทอร์เน็ต หรือ กิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ของ กสทช. ที่ต้อง Must Carry สัญญาณ ฟรีทีวี ด้วยหรือไม่ ท่านใดตอบถูกไปรับรางวัลที่ กสทช. อิอิ LoL

ถามว่า ใครมีส่วนในเงิน 600 ล้านของ กองทุน กทปส.บ้าง ก็ผู้รับใบอนุญาตทุกราย ทั้ง AIS Dtac True NT 3BB ทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี IPTV ล้วนเป็นผู้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามสัดส่วนรายได้ ร้อยละ 2.5 รวมถึงประชาชนผู้เป็นเจ้าของภาษีด้วย จึงล้วนมีสิทธิ์ออกเสียง #บอลโลก2022

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *