24 ตุลาคม 2024

รัฐบาลประยุทธ์ มีมติเก็บภาษีขายหุ้น ไม่สนใจเสียงคัดค้านของ Fetco

0

คลัง เผย ครม. ไฟเขียว เก็บภาษีขายหุ้น รอประกาศราชกิจจา มีผลในอีก 3 เดือน กำหนดอัตราในปี 66 เก็บที่ 0.05% คาดสร้างรายได้ให้รัฐบาลปีแรก 8 พันล้านบาท ส่วนปี 67 เพิ่มเป็นเต็มอัตราที่ 0.10% คาดสร้างรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี แม้ที่ผ่านมา สภาธุรกิจตลาดทุนไทย จะคัดค้านก็ตาม

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังในเรื่องการจัดเก็บภาษีขายหุ้น โดยให้ยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ซึ่งเมื่อมีการยกเลิกแล้ว ในส่วนของอัตราการเก็บภาษีจะดำเนินการให้ไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ที่อัตรา 0.10%

นายอาคม กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดต้องมาดูกันอีกครั้ง จากนั้นเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะมีช่วงเวลาให้ปรับตัว 3 เดือน หมายความว่าเมื่อกฎหมายประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลในอีก 3 เดือน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนให้กฤษฎีกาไปตรวจร่างกฎหมาย หากตรวจร่างกฎหมายแล้วไม่มีส่วนที่ต้องแก้ไข ก็สามารถประกาศใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่าน ครม. อีก ทั้งนี้ ในการเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าวนี้ จะมีการยกเว้นในส่วนของกองทุนต่างๆ อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และบรรดานักลงทุนรายใหญ่ (มาร์เก็ต เมคเกอร์) ซึ่งกลุ่มพวกนี้เป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ อีกทั้งบางกองทุนก็มีการออกตราสารออกมา ซึ่งก็มีส่วนช่วยกระตุ้นสภาพคล่องให้มีการซื้อขายกันมากขึ้น จึงมีการยกเว้นให้กลุ่มดังกล่าว

นายอาคม กล่าวด้วยว่า ในส่วนภาษีขายหุ้นนี้ จะให้ทางนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) เป็นคนรวบรวมภาษีนำส่งกรมสรรพากร ส่วนผู้ขายไม่ต้องดำเนินการใดๆ โดยไม่มีกำหนดเพดานการขายขั้นต่ำหรือเริ่มต้นแต่อย่างใด คือ จะเรียกเก็บตั้งแต่บาทแรกที่มีการขายหุ้นเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าการจัดเก็บภาษีขายหุ้นหากเก็บเต็มปีจะสร้างรายได้ให้รัฐบาล 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี ในฐานอัตราเรียกเก็บที่ 0.10%

“การจัดเก็บภาษีขายหุ้นครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งในส่วนที่กังวลว่าผู้ขายหุ้น จะขายขาดทุนต้องมาถูกเก็บภาษีขายหุ้นอีกนั้น ผู้ขายไม่ต้องนำมาคิดรวมเพราะเป็นส่วนของหลักเกณฑ์ในการซื้อขายหุ้น โดยหลักการของธุรกิจเฉพาะจะเสียภาษีเพียงครั้งเดียว และไม่ต้องกลับมารายงานให้สรรพากรแต่อย่างใด โดยเชื่อว่า กฎหมายการเก็บภาษีขายหุ้นจะไม่มีผลกระทบกับตลาดหุ้นมากนัก เนื่องจากเรื่องนี้มีการพูดคุยกันมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว” นายอาคมกล่าว

ในเรื่องนี้ กระทรวงการคลัง ได้เสนอตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ .. พ.ศ..) ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีหลักการดังนี้

1.ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราดังต่อไปนี้ 1. อัตรา 0.05% (0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
และ 2. อัตรา 0.1% (0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

โดยในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว ได้กำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายมีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก

อย่างไรก็ตาม ได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าวกับ ผู้ดูแลสภาพคล่อง (มาร์เก็ต เมคเกอร์) และกองทุนบำนาญซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายรวมกันไม่เกิน 15% ของมูลค่า ได้แก่ กองทุนที่จ่ายเงินสมทบหรือเงินสะสม ในลักษณะกองทุนผู้สูงอายุ ตลอดจนกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่กองทุนดังกล่าว

ทั้งนี้ การจัดเก็บในอัตราลดลงครึ่งหนึ่ง หรือ 0.05% ในปีแรก เนื่องจากเป็นการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์มานาน ซึ่งไม่ได้ทำให้สูญเสียรายได้ แต่จะมีรายได้ให้รัฐบาลในปีแรกของ 8 พันล้านบาท และในปีต่อๆ ไป หลังเก็บเต็มอัตราที่กำหนด 0.10% รัฐบาลจะจัดเก็บได้ 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี

ที่ผ่านมา สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (Fetco) ได้มีการทักท้วงมาโดยตลอด ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ได้มีการให้ข้อสังเกตุถึงผลกระทบที่จะตามมาเช่นกัน แต่สุดท้ายกระทรวงการคลังยุครัฐบาลประยุทธ์ ที่มีนายอาคมเป็นรัฐมนตรี ก็ไม่ได้สนใจในคำทักท้วงแต่อย่างใด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *