24 ตุลาคม 2024

เชื่อ ‘ท่องเที่ยว-การบริโภคเอกชน’ หนุนเศรษฐกิจไทย แต่’เงินเฟ้อ’ ยังเป็นปัญหาหลัก

0

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ได้บรรยายในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 4/2565 ว่า สำหรับปี 2565 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ปัญหาหลักเป็นเรื่องของเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมากในโลกและสูงสุดประมาณ 30-40 ปี ประกอบกับราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบการเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นแรงกระแทกด้านอุปทานที่มาซ้ำเติมให้เงินเฟ้อขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

“ผลลัพธ์คือธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างเร็ว แรง และพร้อมเพรียงกันมากที่สุดในรอบ 50 ปี ควบคู่ไปกับค่าเงินสกุลเหรียญสหรัฐ ที่ปรับแข็งค่าขึ้นค่อนข้างสูงในช่วงเกือบทั้งปี 2565 ก่อนที่จะปรับอ่อนค่าลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากภาพดังกล่าวเป็นการตึงตัวของภาวะทางการเงินทั่วโลก ที่เพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับราคาสินค้านำเข้าของหลายประเทศ ทำให้อำนาจในการซื้อลดลงจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น”

นายปิติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่าระยะถัดไป เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน และจะคลี่คลายด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ โดยที่ผ่านมาเงินเฟ้อก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ และท้ายที่สุดในแง่ความอ่อนไหวหรือเปราะบางต่อต่างประเทศ ซึ่งไทยค่อนข้างที่จะอ่อนไหวน้อย

“จึงเป็นประเด็นที่ทำให้ กนง.ที่ใช้นโยบายทางการเงินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และใช้มาตราการทางการเงินที่มีเฉพาะจุด รวมถึงการเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยนในบางช่วงก็เป็นการดำเนินการนโยบายทางบูรณาการที่ช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวขึ้นได้มาถึงปัจจุบัน”นายปิติ กล่าว

นายปิติ ยังกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ส่วนการจะกลับมาเห็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบภาวะปกติได้ในช่วงใดนั้น คงยังไม่สามารถเจาะจงได้ เพราะต้องขึ้นกับสถานการณ์ในปี 2566 โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า จึงอาจจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเข้าใกล้กับจุดที่มีศักยภาพแล้วหรือยัง และเงินเฟ้อไม่ได้สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ซึ่งหากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะสมดุลก็ไม่จำเป็นที่แนวนโยบายการเงินจะต้องปรับแบบกระชาก หรือเปลี่ยนทิศทาง

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีปี 2565 จะขยายตัวที่ 3.2% ลดลงจากเดือนกันยายนที่ระดับ 3.3% ปี 2566 อยู่ที่ 3.7% ลดลงที่ระดับ 3.8% และปี 2567 อยู่ที่ 3.9% ซึ่งตัวที่เป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และปี 2566 แรงส่งสำคัญคือการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากต้นปี แรงงานการจ้างงานดีขึ้นและทั่วถึง จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอุปสงค์ในประเทศขยายตัวดี

โดยการบริโภคภาคเอกชนเดือนพฤศจิกายน ปรับขึ้นที่ 6.1% จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5.6% นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 จาก 9.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 10.5 ล้านคน ปี 2566 มีจำนวน 22 ล้านคน และปี 2567 มี 31.5 ล้านคน

“เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ก่อนโควิดปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้า จากแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ”นายสักกะภพ กล่าว

นายสักกะภพ กล่าวว่า สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย โดยปัจจัยบวกคือจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจจะมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะการเปิดประเทศของจีนถ้าเปิดประเทศเร็วนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกว่าคาด ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนที่อาจกระทบต่อการส่งออกของไทย

สำหรับด้านเงินเฟ้อ ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปผ่านจุดสูงสุดแล้วในไตรมาส 3/2565 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่ลดลง ทั้งนี้ การเปลี่ยนของราคาสินค้าและบริการในตระกร้าเงินเฟ้อกระจายตัวลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน

“คาดว่าปีนี้เงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 6.3% ปีหน้าที่ 3% และปี 2567 ที่ 2.1% ตามแนวโน้มราคาพลังงานในประเทศ แต่จะโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในสิ้นปี 2566 ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานยังใกล้เคียงเดิม โดยปี 2565 คาดอยู่ที่ 2.6% ปี 2566 ที่ 2.5% และปี 2567 ที่ 2%”

นายสักกะภพ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มองว่ามี 3 ตัวแปรสำคัญ ที่อาจเป็นความเสี่ยงให้เงินเฟ้อในปีหน้าปรับตัวสูง หรือต่ำกว่าระดับ 3% ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ 1. การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการที่อาจสูงและเร็วกว่าคาด จากต้นทุนการผลิตหลายด้านที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นน 2.มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ยังมีความไม่แน่นอน เช่น มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า และค่าครองชีพอื่นๆ และ 3.เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *