24 ตุลาคม 2024

ผลสำเร็จการประชุมสองสภาของจีน ความหวังเศรษฐกิจจีน-เศรษฐกิจโลก

0

การประชุมสมัยแรกของสภาประชาชนแห่งชาติจีนชุดที่ 14 (NPC) ซึ่งจัดขึ้นที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมี นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ในนามของคณะรัฐมนตรีจีน ได้ส่งรายงานการทำงานของรัฐบาลไปสภาประชาชนแห่งชาติจีน เพื่อพิจารณา ถือเป็นการประชุมที่สำคัญไม่เพียงแต่สำหรับประเทศจีนเท่านั้น แต่ถือเป็นการประชุมที่ได้รับความสนใจกับทั่วโลกด้วย

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ได้รับความสนใจ เพราะบรรยากาศของทุกประเทศทั่วโลกในขณะนี้ ล้วนเผชิญกับสภาวการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่แม้สถานการณ์แพร่ระบาดในปัจจุบันจะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศต่างๆยังคงตกอยู่ในวังวนความวิตกกังวลของคำว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” หรือ Recession ซึ่งหากเกิดขึ้นกับประเทศใด ย่อมมีผลในวงกว้างต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และมีนัยยะสำคัญ ในแง่ของการตกต่ำของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกรอบเวลาที่ค่อนข้างยืดเยื้อ

สหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือแม้แต่กลุ่มประเทศ G7 ล้วนแล้วแต่มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยทั้งสิ้น ความหวังที่ต้องการให้เศรษฐกิจในปีนี้ ฟื้นตัว และหลุดพ้นจากโอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องการให้เกิดขึ้น

แน่นอนว่า เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งถูกมองว่าจะเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี แต่ในความเป็นจริง แม้แต่เศรษฐกิจจีนเองก็ไม่สามารถที่หลีกพ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการที่เศรษฐกิจทั่วโลกมีปัญหาชะลอตัวไปได้

การส่งออกของจีนเองก็ลดลงอย่างมากเช่นกันในช่วงปลายปี 2565 เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกลดลง และยังมีผลกระทบจากมาตรการที่ยังเข้มงวดด้านสุขภาพ จึงทำให้การส่งออกโดยรวมทั่วโลกมีปัญหาไม่แตกต่างกัน แต่ที่พลิกไปจากความคาดหมายของทั่วโลกก็คือ เมื่อ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ออกมาเปิดเผยข้อมูลทางการ เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2566 ว่า สรุปจีดีพีเศรษฐกิจจีนในปี 2565 นั้น ขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.0% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าที่ทางการจีนตั้งเป้าไว้ว่าจะเติบโต 5.5% นับเป็นหนึ่งในอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดในรอบ 40 ปีของจีน

ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ผิดไปจากความคาดหมายของทั้งจีนเอง และประเทศต่างๆทั่วโลก จึงทำให้ความกังวลต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยยังคงหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจจีนในปี 2566ขยายตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

 ดังนั้น เมื่อรายงานการทำงานของรัฐบาลต่อสภาประชาชนแห่งชาติจีนในครั้งนี้ ได้มีการตั้งเป้าหมายใหญ่ว่า จีนจะก้าวเดินไปสู่ “การสร้างประเทศให้เข้มแข็ง” จึงถือเป็นประเด็นใหญ่ที่สื่อมวลชนทั่วโลกพากันรายงานข่าวนี้

ซึ่งแผนการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่สุด ก็คือ การกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปี 2566 นี้ ไว้ที่ประมาณ 5% ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ไม่เพียงจีนเองต้องการจะไปให้ถึง แต่ประเทศต่างๆ ก็ล้วนต้องการให้เศรษฐกิจจีนบรรลุได้ตามเป้าหมายด้วยเช่นกัน เพราะนั่นย่อมจะหมายถึงแรงส่งสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ดีขึ้นในปีนี้

หากจะวิเคราะห์หรือตั้งคำถามว่า เป้าหมายที่จีนจะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ประมาณ 5% รวมไปถึงจะดูแลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นที่ประมาณ 3% นั้น สามารถจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ต้องบอกว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดที่ลึกลงไปของรายงานการทำงานในครั้งนี้ ค่อนข้างที่จะเชื่อมั่นได้ว่า มีความเป็นไปได้สูง

 ประการแรก มาจากการตั้งเป้าสร้างงานในเมืองราว 12 ล้านตำแหน่งในปี 2566 และตั้งเป้าอัตราการว่างงานในเมืองที่มีการสำรวจไว้ที่ราว 5.5% ขณะที่ระดับภาษีโดยรวมลดลงจาก 9.8% เป็น 7.4% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ประการต่อมา มีทิศทางที่จะปรับปรุง ยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรม ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่จับต้องได้ และมีความเป็นไปได้สูงมาก เทียบจากที่จีนแสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจผ่านนวัตกรรม มาอย่างต่อเนื่อง ในระดับที่ถือได้ว่า จีนมีบทบาทในฐานะประเทศผู้นำของนวัตกรรมเทคโนโลยีที่สำคัญยิ่ง

การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรม ย่อมมีผลให้สินค้าของจีนมีคุณภาพที่สูงขึ้น และสามารถแข่งขันได้มากขึ้น โอกาสและความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย 5% ในปีนี้จึงเป็นไปได้อย่างมาก

ด้วยเหตุนี้เอง การประกาศเป้าหมายหลักของการพัฒนาของจีนในครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประเทศต่างๆ ในจังหวะที่ยังคงมีแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกขณะนี้  โดยจะเห็นได้จากการคาดการณ์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะอยู่ที่ 2.9% ซึ่งต่ำกว่าปี 2565 อยู่ 0.5% เช่นเดียวกับ ธนาคารโลก และ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และสถาบันอื่น ๆ ที่ยังคงปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้อยู่ แต่หากเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ประมาณ 5% เกิดขึ้นได้จริง ย่อมจะเป็นผลบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน

และกล่าวสำหรับประเทศไทย ที่มีประเทศจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญมาก ย่อมต้องได้รับประโยชน์โดยตรง ทั้งด้านการค้า การส่งออก การลงทุน และโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวจากจีนถือเป็นความหวังที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ระดับ 5% จึงเป็นเป้าหมายที่เกื้อหนุนและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงนั่นเอง

บทความโดย  : 
ภูวนารถ ณ สงขลา
นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน
บรรณาธิการบริหาร
สำนักข่าวบางกอกทูเดย์ออนไลน์
สำนักข่าว Bangkok Wealth & Biz

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *