24 ตุลาคม 2024

‘ดร.สติธร’ชี้ สถานการณ์ปัจจุบัน เลือกตั้งครั้งนี้ คนจะเลือกพรรคการเมืองจาก ‘อุดมการณ์’

0

สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาวิชาการเนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2566 หัวข้อ “อ่านเกมเลือกตั้ง’ 66 นโยบายใครปัง ใครพัง” เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า แสดงความคิดเห็นในช่วงหนึ่งว่า ในทางทฤษฎีของรัฐศาสตร์ มี 4 ปัจจัยใหญ่ ที่ประชาชนจะใช้ในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง ได้แก่

1.นโยบาย ซึ่งตัวเลขจากการสำรวจแหล่งยืนยันตรงกันว่า ประชาชนจะให้คำตอบว่าเลือกจากนโยบายเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจ

2.อุดมการณ์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงในแง่ของอุดมคติ หรือฝ่ายขวา-ซ้ายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในระยะหลังยังอาจเป็นการพูดถึงในแง่ของจุดยืนทางการเมือง แนวความคิด การมองทิศทางของประเทศ

3.ยุทธศาสตร์ แม้ประชาชนจะมีพรรคหรือนโยบายที่ชื่นชอบ แต่หากคำนวณปลายทางแล้วพรรคนั้นอาจไม่สามารถเป็นรัฐบาล ก็อาจต้องเลือกเชิงยุทธศาสตร์ โดยเลือกพรรคที่ชอบรองลงมาแต่มีโอกาสเป็นรัฐบาลมากกว่า หรือเพื่อปิดประตูไม่ให้ใครบางคนเข้าสู่อำนาจ เป็นต้น

4.ระบบอุปถัมภ์ พิจารณาจากผลประโยชน์ในการพึ่งพิงอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ โดยอาจเป็นความใกล้ชิดสนิทสนม หรืออาจเป็นการอุปถัมภ์เฉพาะหน้า เสนอผลประโยชน์ในระยะสั้นที่ยอมรับได้ เช่น การรับเงินซื้อเสียง การสัญญาว่าจะเอางบประมาณหรือโครงการมาลงในพื้นที่ เป็นต้น

ดร.สติธร กล่าวว่า ปัจจัยทั้ง 4 นี้ ไม่ได้มีผลกับเฉพาะผู้เลือกตั้งเท่านั้น แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ทางพรรคการเมืองอ่านโจทย์และคิดเป็นยุทธศาสตร์ในการหาเสียง ทำให้ในหลายครั้งเราจึงเห็นนโยบายที่ไม่ได้เน้นตัวสาระ แต่ใช้เป็นเครื่องมือในการดึงดูด หรือการที่พรรคฝั่งเดียวกันเสนอนโยบายออกมาแล้ว ก็เสนอออกมาเกทับกัน เป็นต้น ดังนั้นสุดท้ายจึงทำให้นโยบายของหลายพรรคการเมือง อาจไม่ได้ถูกคิดบนฐานของนโยบายแท้จริง แต่คิดแบบกลยุทธ์ในการนำเสนอแทน

“อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าในสถานการณ์ขณะนี้ คนกรุงเทพฯ และในเขตเมืองจะตัดสินใจบนฐานของอุดมการณ์นำ ตามมาด้วยการคิดในเชิงยุทธศาสตร์ แล้วจึงมองระบบอุปถัมภ์ ส่วนนโยบายจะเป็นสิ่งสุดท้าย เช่นเดียวกับเขตนอกเมืองหรือชนบท ที่เชื่อว่าก็จะเลือกบนอุดมการณ์นำ ตามด้วยการมองอุปถัมภ์ และยุทธศาสตร์ ส่วนนโยบายเป็นสิ่งสุดท้าย ดังนั้นแม้คนจะตอบว่าเลือกจากนโยบาย แต่ในความเป็นจริงถ้าถอดรหัสออกมาแล้ว จะพบว่าอาจเป็นปัจจัยลำดับท้ายของการเลือกตั้งครั้งนี้” ดร.สติธรกล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานเดียวกัน มีการมอบรางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่นประจำปี 2566 ให้แก่ น.ส.จัตุพร นันตยุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรางวัลเรียนดีธรรมศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้แก่ นายปรัชญา ทองประดับ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *