24 ตุลาคม 2024

เห็นบิลระวังหนาว! เผยคนไทยเปิดแอร์สู้อากาศร้อนจัดจนไฟฟ้าพีค เตือนอย่าลืมค่าไฟคิดอัตราก้าวหน้า

0

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รายงายสถิติการใช้ไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้า พบว่า เมื่อวันที่ 6เม.ย.ที่ผ่านมา ​เกิดความต้องใช้สูงสุด (พีค) ​ในปีนี้เมื่อเวลา 20:52 น. ด้วยอุณหภูมิ ​31.2 องศาเซลเซียส ซึ่งการใช้ไฟฟ้าที่พีค เกิดจากอากาศร้อนจัด ทำให้คนไทยเปิดแอร์คลายร้อน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังไม่ทำลายสถิติพีคในระบบของประเทศที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2565 เวลา 22.36 น. ที่เกิดขึ้น 32,254.5 เมกะวัตต์ ที่ 32.0 องศาเซลเซียส

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดพีคในระบบ 3 การไฟฟ้าปีนี้ จะนิวไฮไม่ต่ำกว่า 3.4 หมื่นเมกะวัตต์​ อย่างไรก็ตาม หากรวมกับไฟฟ้าของเอกชนที่ผลิตเพื่อใช้เอง (ไอพีเอส) ​อีก 5 พันเมกะวัตต์​แล้ว ความต้องการไฟฟ้า​ของประเทศอาจจะสูงถึง 3.9 หมื่นเมกะวัตต์​ในปีนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทยเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้ไฟฟ้ามากเพื่อคลายร้อน ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยก็จะเพิ่มสูงขึ้น โดยหากมีการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือนจะมีอัตราการคิดค่าไฟฟ้าแบบก้าวหน้า ดังนี้ 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-150) หน่วยละ 3.2484 บาท 250 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ 4.2218 บาท หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป ราคาหน่วยละ 4.4217 บาท

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA)กล่าวว่า MEA แนะนำการประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สภาพอากาศ มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานมากขึ้น เป็นเหตุให้เสียค่าไฟมากขึ้น วิธีการที่จะช่วยให้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย คือการหมั่นดูแล บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้พร้อมใช้งานและปลอดภัยอยู่เสมอ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ดี โดยยึดหลัก “ปิด – ปรับ – ปลด – เปลี่ยน” โดยปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26-27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมควบคู่ จะเป็นการช่วยให้ประหยัดพลังงาน ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน เปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพสูง และหมั่นล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน เปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยๆ พกกระติกน้ำแข็งไว้ดื่ม ไม่ควรกักตุนอาหารไว้ในตู้เย็นเกินความจำเป็น ตรวจขอบยางประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า (เบอร์ 5)

และควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ควรปิดสวิตช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้ง เมื่อไม่ได้ใช้งาน หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ถ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที ป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งติดตั้งสายดิน พร้อมเครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *