24 ตุลาคม 2024

‘We Watch’ ตอกย้ำ 7 ประเด็นฉาวเลือกตั้งล่วงหน้า จี้ กกต. เพิ่มความโปร่งใส ห่วง ‘บัตรเขย่ง’ 14 พฤษภา

0

เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง ปี 2566 (We Watch) จัดแถลงการณ์ ความเห็นต่อการเลือกตั้งทั่วไปล่วงหน้า-นอกเขต วันที่ 7 พ.ค. 2566 นำโดย น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมการเมือง, ไผ่ ดาวดิน หรือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมการเมือง และ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

‘กิต’ ตัวแทนจากกลุ่ม We Watch แถลงว่า มีรายงานวันที่ 7 พฤษภาคม วันเลือกตั้งล่วงหน้า จากหน่วยเลือกทั้งหมด 447 ที่ อย่างน้อย 200 ที่ วันเลือกตั้งที่ผ่านมามีข้อกังวลอยู่ 7 ข้อ ได้แก่

1.เจ้าหน้าที่จ่าหน้าซองบัตรเลือกตั้งผิด
พบว่า คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งบางส่วน มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อการระบุเลขหน้าซองของบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ปัญหาที่เกิดขึ้นมากจนไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นความผิดพลาดของคณะกรรมการประจำหน่วยเท่านั้น แต่เป็นความผิดพลาดของการจัดอบรมคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานของ กกต.

2.การเสียสิทธิ์ของผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า
แม้ว่าการเลือกตั้งล่วงหน้ามีแถลงออกมาว่ามีคนมาใช้สิทธิ์กว่าร้อยละ 90 หรือประมาณ 2 ล้านกว่าคน แต่ในทางตรงกันข้าม มีคนไม่มาใช้สิทธิ์ 2 แสนคนซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล เลยไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า “การเลือกตั้งที่ผ่านมามีการจัดการที่ประสิทธิภาพ มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี” ถ้าเปรียบเทียบกับ ปี 2557 ว่าด้วยระเบียบ กกต. สมาชิกผู้แทนราษฏร พ.ศ. 2554 ข้อ 159 ระบุว่า ถ้าคนที่มาเลือกตั้งล่วงหน้าไม่สามารถมาใช้สิทธิได้ ก็สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปที่ภูมิลำเนาได้

3.เรื่องการลงทะเบียน
ที่เปิดลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 9 เมษายนเป็นวันสุดท้าย พบว่าระบบขัดข้อง ทำให้ประชาชนจำนวนมาก ไม่สามารถลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าได้

4.ความสับสนต่อบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
โดยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนี้มีหมายเลขผู้สมัครกับหมายเลขพรรคการเมืองคนละหมายเลขกัน พบว่าบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตไม่ได้ระบุชื่อผู้สมัคร และไม่ได้ระบุรายละเอียดของพรรคการเมือง สมควรสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้สิทธิของประชาชน เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิได้อย่างสะดวกที่สุด

5.ปัญหาของการจัดเตรียมสถานที่ในการเลือกตั้ง
พบว่าในการเลือกตั้งล่วงหน้ามีปัญหาของสถานที่ที่ไม่ได้รองรับสิทธิของผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย ทั้งผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมไปถึงการไม่มีมาตราการรองรับสภาพอากาศของประเทศไทยที่ร้อนจัด ทำให้คนหน้ามืดเป็นลม

6.เรื่องเอกสารสำคัญที่ต้องติดประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง
ให้ข้อมูลกับประชาชนผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งมีข้อร้องเรียนที่ตรงกันอยู่ 3 ฉบับ เอกสารฉบับแรกคือ รายชื่อ ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ติดหน้าหน่วยเลือกตั้ง พบว่า ในหลายพื้นที่มีรายชื่อพรรคหายไป

เอกสารฉบับ 2 คือ เอกสารใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ที่ต้องติดไว้หน้าบอร์ดคูหา โดยบัตรเลือกตั้งเป็น 2 สี 2 ใบ แต่เอกสารที่แนะนำการลงคะแนนเป็นสีขาว-ดำ สร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

รวมถึงเอกสารรายงานจำนวนบัตรเลือกตั้ง และหน่วยเลือกตั้งนั้นมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ที่ลงทะเบียนไว้เท่าไหร่ พบว่าในหลายหน่วยเลือกตั้งมีการไม่แปะเอกสารเหล่านี้ไว้ และมีที่ติดไว้แต่ไม่ระบุว่ามีบัตรเลือกตั้งแต่ละหน่วยเท่าไหร่ หรือแม้แต่การไม่ระบุผู้มาใช้สิทธิที่ลงทะเบียนไว้เท่าไหร่ ซึ่งถือเป็นเอกสารสำคัญที่สร้างความโปร่งใสต่อประชาชน

7.เรื่องการสังเกตเห็นการณ์การเลือกตั้ง
แม้ว่าส่วนใหญ่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะให้ความร่วมมือกับการสังเกตการณ์ การถ่ายรูปการจัดการเลือกตั้ง ถ่ายรูปเอกสารหน้าหน่วยเลือกตั้ง แต่ก็พบการรายงานจากสื่อมวลชนว่ายังไม่อนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์ได้

น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า เพื่อยืนยันว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ จึงมีข้อเสนอแนะต่อการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ประกอบด้วย

1.คณะกรรมการการเลือกตั้งควรชี้แจงจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีการจัดการที่ผิดพลาด และซี้แจงวิธีการแก้ไขอย่างละเอียด พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อสร้างความกระจ่างแก่ประชาชนที่มาใช้สิทธิ

2.คณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรประกาศสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งจะมีการนับคะแนนในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ทั้ง 400 เขต เพื่อให้ประชาชนที่ยังคงมีข้อห่วงกังวล จะได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนน

3.เพื่อให้ความกระจ่างชัดต่อประชาชนยิ่งขึ้น เสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้ เปิดเผยเอกสารสำคัญอีก 2 ฉบับ เพิ่มเติมบนเว็บไซค์ของ กกต. จังหวัด ดังนี้
ฉบับแรก แบบรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับมาก่อนลงคะแนน (แบบ ส.ส.5/5) และ
ฉบับที่สอง ประกาศรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งเมื่อเสร็จสิ้นการออกเสียงลงคะแนน (ส.ส.5/7)

4.เน้นย้ำให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ให้ความร่วมมือการสังเกตการณ์โดยประชาชน ทั้งการถ่ายภาพกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และการบันทึกผลคะแนนของหน่วยเลือกตั้ง เพื่อช่วยให้การเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศไทย ดำเนินไปด้วยความ โปร่งใส และ เป็นธรรม ซึ่งควรให้ชัดเจนคือจะไม่มีกรณีของ “บัตรเขย่ง”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *