24 ตุลาคม 2024

เปิดรายงานประชุมผู้ถือหุ้น ITV ปี 2554-2566 แค่จะทำสื่อ Youtube ยังยอมรับว่า ‘ไม่มีปัญญาทำ’

0

ประเด็นเกี่ยวกับการบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2566 ของ บริษัทไอทีวี ไม่ตรงกับคำตอบของ นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัท ที่เพิ่งเข้ามาเป็นประธานกรรมการเมื่อปี 2565 จนกลายเป็นประเด็นข้อสงสัยตามมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะประเด็นการประกอบธุรกิจสื่อของบริษัทไอทีวี โดยเฉพาะจู่ๆก็มีการโผล่รายได้จากการทำธุรกิจสื่อขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

ทั้งๆที่ตลอดมา คณะกรรมการได้ยอมรับมาตลอดว่าไม่มีความพร้อมที่จะกลับมาทำธุรกิจสื่อ รายได้ที่มีทุกปีก็ล้วนมาจากการใช้เงินที่มีไปลงทุนในตราสารหนี้ และระบุในหลายครั้งการประชุมเมื่อถูกผู้ถือหุ้นถามเกี่ยวกับการกลับมาทำธุรกิจ ก็จะได้รับคำตอบว่า ต้องรอให้คดีสิ้นสุดก่อน และที่สำคัญหากจะมีการกลับมาทำธุรกิจก็จะทำแผนมาเสนอให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่แปลกมากที่จู่ๆ ก็มีการกลับมาทำธุรกิจให้บริการลงสื่อโฆษณา ในจังหวะที่มีประเด็นเรื่องการตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และกรณี บริษัทไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่

ทำให้เกิดคำถามในสังคมว่า เป็นเรื่องบังเอิญ หรือ จงใจ หรือว่าเป็น ทฤษฎีสมคบคิดหรือไม่???

บางกอกทูเดย์ออนไลน์ จึงไปเปิดดูรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวี ตั้งแต่ปี 2554 ถึง ปี 2566 พบว่าตลอดมาคณะกรรมการตอบผู้ถือหุ้นว่ายังไม่ได้ทำธุรกิจ ยังไม่มีความพร้อม แม้แต่ผู้ถือหุ้นเสนอให้ทำผ่าน Youtube เพราะต้นทุนไม่สูง บริษัทยังระบุว่าไม่มีความพร้อมที่จะทำ ไม่มีบุคลากร แต่แล้วมาในปี 2566 กลับมาทำธุรกิจให้บริการสื่อโฆษณาโดยที่ไม่ได้บอกกล่าวกับผู้ถือหุ้นก่อนเลย

ปี 2554
วาระที่ 9 พิจารณาเรื่องอื่นๆ
ผู้ถือหุ้นสอบถามว่า ระหว่างที่รอคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เหตุใดบริษัทจึงไม่มีแผนหรือธุรกิจที่ทำให้กิจการมีรายได้
ประธานให้ นางสุภรานันท์ ชี้แจงว่า บริษัทได้พยายามทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูและแสวงหากิจการที่สามารถจะทำกำไร เพื่อแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนมาโดยตลอด โดยร่วมกับที่ปรึกษาการเงินและที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทได้พิจารณาทางเลือกที่มีอยู่ทั้งหมดอย่างละเอียดรอบคอบทุกแนวทางแล้ว แต่ไม่มีทางเลือกใดที่สามารถเป็นไปได้ นอกจากนี้ การจะหาผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพเพื่อเจรจาขอร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีผลประกอบการที่ดีก็เป็นไปได้ยาก

ปี 2556
ผู้ถือหุ้นสอบถามว่า เนื่องจากบริษัทไม่ได้ดำเนินธุรกิจใดๆ ขอให้กรรมการพิจารณาลดค่าตอบแทนของกรรมการ (ประธานได้เงินเดือน 80,000 บาท กรรมการได้เงินเดือน 70,000 บาท)
ประธาน ชี้แจงว่า อัตราค่าตอบแทนเป็นไปตามอุตสาหกรรมเดียวกัน และพิจารณาจากความรับผิดชอบ หน้าที่และปริมาณงานที่ต้องดำเนินการของคณะกรรมการทุกคน และเป็นมติของผู้ถือหุ้นมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว
ทำให้มีผู้ถือหุ้นถามว่า แล้วผลงานของกรรมการคืออะไร ซึ่งประธานก็ยกเรื่องการสู้คดีกับผลคดีขึ้นมาเป็นหลัก แล้วก็เรื่องบริหารเงินฝากและการลงทุนที่บริษัทยังได้รับผลตอบแทนที่ดี
สุดท้ายมีผู้ถือหุ้นถามว่า ถ้าบริษัทชนะคดี ทางคณะกรรมการจะทำธุรกิจอะไรต่อ และสามารถทำธุรกิจเหมือนเดิมได้ไหม
ประธานตอบว่า ถ้าบริษัทชนะคดีในกระบวนการยุติธรรมขั้นสุดท้าย บริษัทจะต้องนำแผนการดำเนินงานในขั้นต่อไปมาเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อนดำเนินการ
แปลตรงๆก็คือ ถ้าจะกลับมาทำธุรกิจอะไร ก็จะต้องทำแผนมาขอผู้ถือหุ้นก่อน

ปี 2557
ผู้ถือหุ้นเสนอให้หาทางจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ทางประธานชี้แจงว่า ตาม พรบ.บริษัทมหาชน และข้อบังคับบริษัทห้ามจ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไร ซึ่งบริษัทยังมีผลขาดทุนสะสม 10,609,111,617 บาท และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะจ่ายเงินปันผลหรือคืนทุนให้กับผู้ถือหุ้น
ผู้ถือหุ้น เสนอให้ตั้งบริษัทย่อย มาเพื่อดำเนินการลงทุนในกิจการใหม่
ประธานชี้แจงว่า คณะกรรมการเคยเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาแล้ว และที่ประชุมได้รับทราบ และอนุมัติว่าทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดที่จะแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือการรอให้ผลคดีสิ้นสุดก่อน

ปี 2558
ในวาระที่ 8 พิจารณาเรื่องอื่นๆ ประธานได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณารับทราบแนวทางการลงทุนของบริษัท ว่าคณะกรรมการได้ว่าจ้าง บริษัท ฮันตัน แอนด์ วิลเลี่ยมส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ทำการศึกษาแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม พบว่า การลงทุนที่มีการแลกเปลี่ยนหุ้นโดยการเข้าซื้อหุ้นก่อน เป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดย บริษัท ฮันตัน แอนด์ วิลเลี่ยมส์ (ไทยแลนด์) ให้ข้อมูลว่า บริษัทหยุดประกอบกิจการจากการถูกบอกเลิกสัญญา แต่บริษัทมีเงินสดอยู่ประมาณ 1,150 ล้านบาท ซึ่งต่อมาถูกเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 24 กรกฎาคม 2557
แนวทางการลงทุนที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทยังมีคดีข้อพิพาททางกฎหมาย จึงเสนอให้บริษัทนำเงินสดไปเพิ่มทุนให้ บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นอยู่เกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อไปดำเนินการเข้าซื้อกิจการบริษัทอื่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หากบริษัทสามารถเลือกบริษัทเป้าหมายได้เรียบร้อย ก็จะมีการตกลงเจรจาเบื้องต้น และดำเนินการทำ financial due diligence กับผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทเป้าหมาย
เมื่อมีการตกลงสัดส่วนการถือหุ้นได้เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการของบริษัทจะต้องนำมาเสนอเพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นในการพิจารณาอนุมัติการนำเงินสดของบริษัทไปเพิ่มทุนแก่ บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย เพื่อให้ไปดำเนินการเข้าซื้อกิจการ บริษัทอาร์ตแวร์ มีเดีย จะได้มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และสามารถนำหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวมาทำการแลกกับหุ้นของบริษัทไอทีวี เพื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทไอทีวีจะได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเป้าหมาย
แต่ทั้งนี้ บริษัทจะต้องมีการขอมติจากผู้ถือหุ้น และต้องผ่านมติด้วยเสียงข้างมาก รวมทั้งต้องขอให้ ก.ล.ต.อนุมัติเป็นกรณีพิเศษ
ทำให้ผู้ถือหุ้นสอบถามว่า บริษัทเป้าหมายจะเป็นธุรกิจประเภทใด ทางที่ปรึกษาการลงทุนตอบว่า คำถามนี้ยังไม่สามารถชี้แจงได้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ โดยบริษัทเป้าหมายจะต้องมีความเต็มใจที่จะขายหุ้น
ผู้ถือหุ้นถามว่า บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย ในขณะนี้ทำอะไรอยู่ คำตอบคือ ขณะนี้ไม่ได้ประกอบธุรกิจใด
ผู้ถือหุ้นจึงสอบถามว่า บริษัทมีเป้าหมายอย่างไร เช่น จะทำธุรกิจสื่อสาร หรือธุรกิจด้านพลังงานทางเลือก ซึ่งที่ปรึกษาการลงทุนตอบว่า ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องหาบริษัทเป้าหมายให้ได้ก่อน และจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาเสนอให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาและตัดสินใจก่อนที่จะดำเนินการ และประธาน ได้เสริมว่า ขอโอกาสให้คณะทำงานได้ทำงานในส่วนนี้ให้เรียบร้อยครบถ้วนก่อน และจะกลับมาตอบในกรณีนี้อีกครั้ง เรื่องธุรกิจการค้าต้องอาศัยระยะเวลาในการศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน โดยคำนึงถึงเงินทุน บุคคลากร สภาพธุรกิจ และสภาพทางการเงินด้วย
ผู้ถือหุ้นถามว่า บริษัทจะดำเนินการอย่างใดต่อไป เกี่ยวกับเรื่องการทำธุรกิจจากเงินสดที่บริษัทมีอยู่ ที่ปรึกษาชี้แจงว่า หากคดีความยังไม่จบสิ้นลง การที่บริษัทจะตัดสินใจดำเนินการใดจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงทางกฎหมาย
ผู้ถือหุ้นถามว่า เหตุใดบริษัทอื่นๆในตลาดหลักทรัพย์ที่มีคดีความกับหน่วยงานรัฐยังสามารถประกอบธุรกิจได้ แต่บริษัทกลับไม่สามารถดำเนินการได้ บริษัทควรพิจารณาดำเนินการทางธุรกิจโดยไม่จำเป็นต้องรอให้คดีความยุติจบสิ้นก่อน แต่ ที่ปรึกษา ชี้แจงว่า เนื่องจากมูลหนี้ข้อพิพาทมีจำนวนสูงเกินกว่ามูลค่าของบริษัท ซึ่งมีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้น การพิจารณาการลงทุนใดๆของบริษัท จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงข้อดีข้อเสีย เพื่อไม่ให้เงินของผู้ถือหุ้นลดลง และอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมาย
ซึ่งประธาน ได้เสริมว่า เมื่อคณะกรรมการบริษัทได้รับรายงานและความเห็นจากที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทจึงตัดสินใจชะลอการดำเนินการในเรื่องแนวทางการลงทุนทางเลือกออกไปก่อน

ปี 2560
มีการรายงานต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่า ได้รับข้อเสนอทางธุรกิจจากบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล ต้องการเพิ่มทุนจดทะเบียนให้บริษัทเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 ในวงเงินประมาณ 300 ล้านบาท แต่สุดท้ายคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่สามารถตอบรับข้อเสนอของบริษัทเป้าหมายได้ เนื่องจาก 1. ธุรกิจสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก มีผู้ประกอบการรายที่เป็นผู้นำตลาดเท่านั้นที่จะพอสร้างกำไรได้ 2. มีความไม่แน่นอนในการประมาณการรายได้ในอนาคตของบริษัทเป้าหมาย
ทำให้เรื่องของการที่จะลงทุนกับธุรกิจอื่นจึงหยุดไป

ปี 2563
ได้มีผู้ถือหุ้นเสนอว่าให้บริษัทดำเนินการสร้างผลงานผ่าน Youtube โดยไม่ต้องลงทุนมาก แต่คณะกรรมการตอบว่า ในปัจจุบัน บริษัทไม่มีทรัพยากรและบุคลากรที่จะดำเนินการได้ และการเริ่มประกอบกิจการใหม่ในความไม่พร้อม แทนที่จะเป็นโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทน อาจกลายเป็นการเพิ่มภาระความเสี่ยงให้แก่บริษัทและผู้ถือหุ้นมากยิ่งขึ้น
เรียกว่าขนาดการทำสื่อผ่าน Youtube บริษัทยังยอมรับเลยว่าไม่มีความพร้อม แล้วเช่นนี้จะกลับมาทำธุรกิจสื่ออย่างเต็มรูปแบบเช่นเดิมได้อย่างไร

ปี 2564 จึงไม่ได้มีคำถามใดๆเกี่ยวกับการทำธุรกิจสื่อ หรือการลงทุนในธุรกิจอื่นอีก บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จึงยังคงเป็นบริษัทที่ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในปี 2564 นี้ นายสมคิด หวังเชิดชูวงศ์ ซึ่งเป็นประธานกรรมการ และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ต้องออกจากตำแหน่งตามวาระ แต่ก็ได้มีการเสนอชื่อให้กลับมา และที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็มีมติเห็นด้วยร้อยละ 93.53 แต่ปรากฏว่าในการประชุมปี 2565 กลับมีชื่อของ นายคิมห์ สิริทวีชัย เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริษัทแทน โดยที่ไม่มีชื่อของ นายสมคิดเป็นกรรมการเลยด้วย แต่เนื่องจากว่าบริษัทไอทีวีไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว จึงไม่มีการเผยแพร่ข่าวในเรื่องกรรมการลาออก และมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรมการใหม่แต่อย่างใด
ซึ่งในปี 2566 ก็เป็นนายคิมห์ ที่ยังคงเป็นประธานกรรมการบริษัท และเกิดกรณีการบันทึกรายงานการประชุมที่ไม่ตรงกับคำตอบ
และงบการเงินไตรมาส 1/2566 จู่ๆก็มีรายได้จากการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 ก็มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา

โดยที่ในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นปี 2566 ก็ไม่มีการนำเสนอเรื่องรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา รวมทั้งไม่ได้มีการมาขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นเพื่อการทำธุรกิจ เหมือนกับที่มีการแจ้งต่อผู้ถือหุ้นมาโดยตลอดหลายปีว่า หากจะทำธุรกิจอะไรจะทำแผนมานำเสนอต่อผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติ
และอีกประการ บริษัทไอทีวี ซึ่งไม่มีพนักงานเลย ในระดับที่แม้แต่จะทำสื่อผ่าน Youtube ก็ยังทำไม่ได้นั้น ทำไมจู่ๆกลับมาสามารถทำธุรกิจให้บริการลงสื่อโฆษณาได้ แถมรีบลงบัญชีรายได้ในงบไตรมาส 1 ทั้งๆที่ในหมายเหตุงบข้อ 10 ระบุไว้ว่า บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566

เพราะฉะนั้น ไม่แปลกที่ ทำไมจึงเกิดคำถามตามมามากมายในขณะนี้

กรศิริ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *