23 ตุลาคม 2024

มีคำถามเล่นๆในวงสนทนาเล็กๆ ว่า ระหว่างการเจรจากับกลุ่ม ส.ว. เทียบกับการเจรจากับพรรคการเมืองที่ต้องการเป็นขั้วรัฐบาล อะไรจะง่ายกว่ากัน

นั่นสิ เป็นคำถามเล่นๆก็จริงแต่ก็น่าคิดไม่น้อยเลย

คนที่ถามบอกว่า ก็ในเมื่อ 311-312 เสียง ยังคงต้องการเสียงสนับสนุนอีก 65-66 เสียงเป็นอย่างน้อย ซึ่งหากต้องการจาก ส.ว. ก็ยังไม่รู้ว่าจะยากหรือง่าย

เพราะมี ส.ว.ตัวจี๊ด ส.ว.ตัวตึงออกมาปาวๆ เขย่ากระแสรายวัน ว่าส.ว.จะไม่โหวตให้

ไม่รู้เหมือนกันว่า มีใครเผลอไปแต่งตั้งให้เป็นโฆษก หรือเป็นทนายหน้าหอของตัวแทนกลุ่ม ส.ว.ใดหรือเปล่า

แต่อาการที่ออกมา เหมือนกับว่าต้องการโชว์ให้ ‘ใครบางคน’เห็นว่า หากเอาชนะมติของประชาชนได้ในครั้งนี้ อย่าลืมผลงานการแสดงในครั้งนี้นะจ๊ะ

เมื่อความชัดเจนในการเจรจากับ ส.ว.ยังเป็นข้อยุ่งยากและซับซ้อน เพราะถูกแทรกแซงจากอำนาจเก่า ทำไมไม่หันไปเจรจากับพรรคการเมืองแทน

คนตั้งคำถามเปรยขึ้นมาด้วยว่า จริงๆพรรคภูมิใจไทยที่มี 70 เสียงเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจในการเจรจา

เพราะภูมิใจไทยลงทุนลงแรงลงสารพัดอย่างไปเยอะมาก ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาลถือว่าเสียหายหนัก ฉะนั้นน่าที่จะคุยกันได้ง่ายกว่า

ก็เป็นปุจฉาที่เข้าข่ายชวนคิดด้วยเหมือนกันแฮะ

แต่ก็มี เซียนการเมืองผู้คร่ำหวอด เอ่ยปากให้แง่คิดขึ้นมากลางวงว่า การเจรจากับภูมิใจไทยอาจไม่ยากก็จริง แต่เงื่อนไขความต้องการของภูมิใจไทยอาจทำให้พวกด้อมส้มหรือพวกนางแบก และโดยเฉพาะพวกที่มีจุดยืนประชาธิปไตยที่แน่วแน่คงยอมรับกันไม่ได้

การเจรจากับเสี่ยหนูกับอาจารย์ใหญ่บุรีรัมย์ ที่สุดแสนเขี้ยวลากดินทางการเมืองอาจจะดูเหมือนไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายแน่ๆ โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง หากเขาคิดว่าเขาเป็นต่อ

เพราะอย่าลืมว่าในบรรยากาศการเมืองฝุ่นตลบเช่นในขณะนี้ มีคน มีนักการเมือง มีพรรคการเมือง ที่สนใจประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ ก็เห็นๆกันอยู่ไม่ใช่หรือ

นั่นสิ วนไปวนมา สุดท้ายประเทศเดินไปข้างหน้ายังไม่ได้ก็เพราะมัวเมาในผลประโยชน์ส่วนตัวกันนี่แหละ

หนามกุหลาบ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *