23 ตุลาคม 2024

แฟนพันธุ์แท้ของบางกอกทูเดย์ ตั้งคำถามเข้ามาเรื่องพฤติกรรม และวิธีคิดของ สว.

ที่แน่นอนว่า ในภาพรวมของสังคมส่วนใหญ่ ผู้คนคงยากจะเข้าใจ

จะมีก็แต่ 250 สว. กับบรรดากองเชียร์ แล้วก็ขั้วอำนาจเก่า ที่ใช้ สว.เป็นอาวุธในการเบรคฝั่งประชาธิปไตย

คำถามง่ายๆที่ถามเข้ามาก็คือ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม บรรดา 250 สว. ได้ไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งในฐานะประชาชนไปแล้วไม่ใช่หรือ?

และแน่นอนว่าในจุดยืนที่แสดงต่อสังคมอย่างชัดเจน กลุ่มสว. ที่ไม่เห็นชอบกับก้าวไกล กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ดังนั้น ก็คงไม่เลือกพรรคก้าวไกลอย่างแน่นอน

แล้วก็คงจะเลือกพรรคที่แต่งตั้งกลุ่มตนเองเข้ามา จะ รทสช. หรือ พปปร. ก็แล้วแต่ว่ามาสายไหน ใครตั้ง

การที่ สว. มามีสิทธิ์เลือกนายกได้อีกครั้งในรัฐสภาแบบนี้ ถือว่าเป็นการใช้สิทธิ์ซ้ำ เป็นการมีสิทธิ์มากกว่าประชาชนใช่หรือไม่?

ตอบง่ายๆสไตล์ สว. ก็คือ โทษพวกเขาไม่ได้ที่แม้เป็นประชาชนคนไทยเหมือนกัน แต่มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ 2 ครั้ง เลือก สส. แล้วก็เลือกนายกฯด้วย

ถ้าจะโทษก็ต้องไปโทษบทเฉพาะการในรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจพวกเขามีสิทธิ์โหวตได้ 2 ครั้ง

ฉะนั้นถ้าจะด่า สว.ก็อาจจะบอกว่า ต้องไปด่า มีชัย ฤชุพันธุ์และพวก ที่ร่างตามใบสั่ง คสช. กับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนเกิดรัฐธรรมนูญฉบับตามใจแป๊ะขึ้นมาในประเทศไทย

ส่วนคำถามที่ว่า เลือกครั้งแรกแพ้แล้วไม่ยอมแพ้ ก็เลยมาใช้อำนาจเอาคืน เลือกเบรคผู้ชนะใช่หรือไม่?

อันนี้ต้องบอกว่านานาจิตตัง เพราะการพิสูจน์เจตนาทำได้ยากมาก

สิ่งเดียวที่จะตอบได้ดี ก็คือบรรดา 250 สว.นั่นแหละที่รู้อยู่แก่ใจ ว่าเหตุผลที่แท้จริงในการโหวตไม่เอาพิธา ไม่เอาก้าวไกล คืออะไร?

แพ้แล้วไม่ยอมแพ้? หรือแพ้แล้วพาล? ก็อยู่ที่กลุ่มไหนใครจะมอง

เพราะกลุ่มที่ตั้งคำถาม สว.มีไว้ทำไม ก็คงปักใจเชื่อไปแล้วว่า สว.ทำงานเพื่อใคร

ถามมาก็ตอบไปประมาณนี้แหละ เพราะการจะให้สว. กลุ่มที่ถูกรุมต่อว่าได้รู้คิด คงเป็นเรื่องยาก ตราบใดที่ยังเชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง แล้วเป็นไปตามอำนาจที่แป๊ะให้มา

แต่สำหรับคนที่เฝ้ารอให้ สว.ชุดนี้หมดอำนาจ ยังไงก็คงไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดของ สว.กลุ่มนี้อยู่ดี

แถมอาจจะรอเฮ วันที่ สว.หมดอำนาจพฤษภาคมปีหน้าก็ได้จริงไหม

หนามกุหลาบ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *