24 ตุลาคม 2024

‘ประชาชน-ธุรกิจ’ สาหัสแน่! กกพ.ลั่น ลดค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายปีนี้ไม่ได้ โยนให้รอรัฐบาลใหม่

0

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. ชี้แจงกรณีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ขอให้รัฐบาลปรับลดอัตราค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี(กันยายน-ธันวาคม) ลงมาเป็น 4.25 บาท เนื่องจากเห็นว่า มติ กกพ. ล่าสุดที่เห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงจาก 4.70 บาท มาเป็น 4.45 บาทต่อหน่วยโดยให้มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายนนั้น ยังสูงไปทั้งๆที่ต้นทุนต่างๆลดลงแล้ว และเห็นว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยควรจะอยู่ที่4.20 สตางค์

นายคมกฤช เปิดเผยว่า การปรับลดค่าไฟฟ้าในช่วงงวดสุดท้ายของปีนี้ (กันยายน-ธันวาคม) เป็นเรื่องยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการคำนวนค่าไฟฟ้า เป็นการคิดตามสูตรคำนวนผันแปรงวดสุดท้าย ซึ่งอิงจากสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิง ทั้งก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ปริมาณก๊าซในอ่าวไทย และสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยังเหลือหนี้จากการแบกรับค่าเอฟทีปีที่แล้วอยู่ 1.1 แสนล้านบาท ซึ่ง กฟผ.เองก็บอกว่าสามารถบริหารหนี้ได้เพียง 5 งวดเท่านั้น จึงเสนอลดค่าไฟฟ้าในงวดสุดท้ายของปีที่ 25 สตางค์ต่อหน่วย

นายคมกฤช กล่าวว่า แต่หากต้องการให้ลดค่าไฟฟ้าเหลือ 4.25 บาทต่อหน่วยตามที่ กกร.เสนอ (ลดค่าเอฟทีลงอีก 20 สตางค์) จะต้องใช้งบประมาณจากนอกระบบเข้ามา เช่น เงินอุดหนุนจากรัฐบาลโดยตรง เนื่องจาก กกพ. ไม่มีงบประมาณเพียงพอ ซึ่งประเมินว่าการลดค่าไฟฟ้าลง 1 สตางค์ต้องใช้งบประมาณราว 600 ล้านบาท หากจะลดค่าไฟ 20 สตางค์ ต้องใช้งบประมาณราว 12,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องรอรัฐบาลใหม่ และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา

นายคมกฤช ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับแนวโน้มค่าไฟฟ้าปีหน้า ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบอีกหลายปัจจัย ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ ราคา LNG ปริมาณก๊าซในอ่าวไทย ปริมาณการใช้ก๊าซของโรงแยกก๊าซที่จะเพิ่มขึ้นส่งผลให้ก๊าซในภาคไฟฟ้าลดลง และที่สำคัญคือก๊าซในพม่าที่อาจจะหายไป นอกจากนี้ยังมีภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนของสปป.ลาว ลดน้อยลง ส่งผลให้ผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง ประกอบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในบ้านเราที่ต้องปลดระวาง ซึ่งอาจจะทำให้การผลิตไฟฟ้าต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ขณะที่ราคา LNG ปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยลบเหล่านี้อาจจะดันให้ค่าไฟฟ้าในปีหน้าสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยบวกจากก๊าซแหล่งเอราวัณ ที่ปตท.สผ. แจ้งว่าจะกลับมาผลิตได้ปริมาณ 800 ลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงกลางปี 2567 จากที่ขณะนี้ผลิตได้ที่ 400 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากผลิตได้ตามคาดการณ์ประเทศไทยก็อาจจะนำเข้า LNG ลดลง และจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย หรืออีกแนวทางหนึ่งก็คือ การหาแหล่งก๊าซแหล่งใหม่ในอ่าวไทยเพื่อผลิตก๊าซเพิ่มเติม

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ยอมรับว่าไม่สามารถขยายระยะเวลาชำระจากการแบกรับค่า เอฟที ตั้งแต่ปี 2564 ที่ยังเหลืออยู่อีก 110,000 ล้านบาท ออกไปอีกได้ เนื่องจากจะส่งกระทบต่อกระแสเงินสดหรือสภาพคล่องของ กฟผ.และจะส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรทติ้ง) ของกฟผ. ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการลงทุนในอนาคตสูงขึ้น ปัจจุบัน กฟผ.ได้บริหารกระแสเงินสดและสภาพคล่องทางการเงินดังกล่าวโดย 1.ใช้เงินกู้เพื่อบริหารสภาพคล่อง รวม 110,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เดือนพฤษภาคม 2565 จำนวน 25,000 ล้านบาทและ เงินกู้เพื่อบริหารภาระค่าเอฟที (กระทรวงการคลังค้ำประกัน) จำนวน 85,000 ล้านบาท 2.ใช้วงเงินกู้ระยะสั้น (Credit Line) สูงสุด จำนวน 30,000 ล้านบาท และ 3.เลื่อนจ่ายเงินนำส่งรัฐ โดย กฟผ. มีภาระในการคืนเงินต้นเงินกู้เสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะเริ่มมีการชำระยอดแรกในปี2567 แต่ปัจจุบัน กฟผ.ได้เริ่มชำระดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้น หาก กฟผ.ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดจนต้องมีการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปจะส่งผลกระทบดังกล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *