24 ตุลาคม 2024

ประมวลเหตุการณ์ “ทักษิณ” กลับไทย ครั้งแรกรอบ 15 ปี

0

วันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาประเทศไทย ด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนบุคคล ตามที่ประกาศครั้งหลังสุดว่าจะกลับมาประเทศไทยอย่างแน่นอน ไม่มีการเลื่อนอีกแล้ว โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น้องสาวที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศด้วยกัน ได้โพสต์ภาพการมาส่งพี่ชาย นายทักษิณ ขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทย พร้อมสวมกอดด้วยสีหน้าค่อนข้างเศร้า โดยนายทักษิณสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว สูทสีกรมท่า เนกไทสีแดง พร้อมกางเกงสแล็ค มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส

ทันทีที่เครื่องบินจอดสนิท นายทักษิณ ได้เดินลงจากเครื่องบิน และลงมายืนอยู่บนแผ่นดินไทยอีกครั้งในเวลา 09.25 น. ซึ่งหลังจากเดินเข้าประตู นายทักษิณได้โบกมือให้กับผู้ที่มารอต้อนรับ โดยเมื่อผ่านขั้นตอนของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองแล้ว นายทักษิณได้เดินออกมาที่บริเวณด้านหน้าอาคาร เพื่อถวายบังคมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ท่ามกลางประชาชนกลุ่มเสื้อแดงและแกนนำพรรคเพื่อไทย รวมทั้งครอบครัว มารอต้อนรับอย่างอบอุ่น

ในส่วนของครอบครัว พบว่า น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หรือแซนด์ หลานสาว เดินทางมาถึงแต่เช้า สำหรับผู้ที่มาต้อนรับ ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อไทย น.ส.พินทองทา คุณากรวงศ์ หรือเอม บุตรสาวคนกลาง ซึ่งนำครอบครัว โดยเฉพาะลูกทั้งหมดมาพบคุณตาเป็นครั้งแรกแบบพร้อมหน้า โดยเฉพาะ ด.ช.พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์ หรือน้องธาษิณ รวมทั้ง บุตรฝาแฝดของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายคนโต ที่จะมาพบคุณปู่ด้วย ขณะที่นายพานทองแท้จะเดินทางกลับมาพร้อมนายทักษิณจากสิงคโปร์

เวลา 10.09 น. อุ๊งอิ๊ง ได้โพสต์ภาพพร้อมหน้าครอบครัวชินวัตร รวมถึงลูกเขย ลูกสะใภ้ และหลานๆ ของนายทักษิณที่มาต้อนรับกลับบ้านอย่างอบอุ่น โดยระบุว่า Welcome back to Thailand daddy ตอนนี้คุณพ่อเดินทางถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพแล้ว และได้เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายเรียบร้อย ขอบคุณทุกคนที่มารอรับคุณพ่อ ขอบคุณทุกกำลังใจที่ทุกคนส่งมาให้นะคะ อิ๊งค์และครอบครัวรู้สึกซาบซึ้งใจมากๆ ค่ะ”

ด้านบรรดานักการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนยุคเก่า จนมาถึงพรรคเพื่อไทย ได้ทยอยมารอรับจำนวนมาก ทั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล นายเกรียง กัลป์ตินันท์ นางมุกดา พงษ์สมบัติ นางสมหญิง บัวบุตร นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด และนายสนธยา คุณปลื้ม  นอกจากนี้ยังมีนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา มาต้อนรับด้วย

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ได้ทวีตข้อความใจความว่า “การกลับมาประเทศบ้านเกิด พร้อมหน้ากับครอบครัว เป็นสิ่งที่ไม่มีความสุขไหนจะเทียบได้ ยินดีกับครอบครัวชินวัตร และอดีตนายกรัฐมนตรี คุณทักษิณ ที่วันนี้จะได้กลับสู่ประเทศไทยครับ”

ต่อจากนั้นเวลา 10.20 น. นายทักษิณ ได้เดินทางถึงศาลฎีกา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ตำรวจสน.ชนะสงคราม นำโดย พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ดูแลความเรียบร้อย และราว 11.00 น. ได้เดินทางออกจากศาลฎีกา มุ่งหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และในเวลา 11.24 น. รถยนต์สีดำ พร้อมขบวน พานายทักษิณเข้าสู่ประตูเรือนจำ ท่ามกลางเสียงตะโกนโห่ร้องขอประชาชนว่า ‘เรารักนายกฯทักษิณ’ ท่ามกลางการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

จากนั้นเวลา 11.35 น. คนเสื้อแดงเปิดเพลงจังหวะคึกคัก โดยมีผู้กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงจากรถเครื่องเสียงที่จอดเทียบริมทางเดินเท้าหน้าเรือนจำว่า ‘วันนี้ความฝันของพี่น้องประชาชนเป็นจริงแล้ว 17 ปีที่หายไป วันนี้ความสุขกลับคืนมาสู่พี่น้อง’

สำหรับที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ต.อ.คมวุฒิ จองบุญวัฒนา ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานกรุงเทพ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้นำบุคคลตามหมายจับมาส่งต่อศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้ง 3 คดียืนยันว่า บุคคลที่อยู่ต่อหน้าศาลเป็นจำเลยหรือจำเลยที่ 1 ในคดีทั้งสามคดี โดยจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นจำเลยในคดีทั้งสาม ดังนี้

1.คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 ระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย

2.คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนายทักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 47 คน

3.คดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ของศาลนี้ ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย

จากนั้นจึงรับตัวจำเลยหรือจำเลยที่ 1 ในคดีทั้งสามคดีดังกล่าวไว้ และศาลได้แจ้งให้จำเลยหรือจำเลยที่ 1 ทราบคำพิพากษาแล้ว โดยคดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 ลงโทษจำคุก 3 ปี (สามปี) คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ลงโทษจำคุก 2 ปี (สองปี) และคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ลงโทษจำคุกรวม 5 ปี (ห้าปี) นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 และต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552

สำหรับการนับโทษต่อคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 และคดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ศาลฎีกาฯนักการเมืองไม่ได้ให้นับโทษต่อ (คดีที่ 1 = 3 ปี , คดีที่ 2 = 2 ปี นับโทษซ้อนกัน) แต่ให้นับโทษต่อคดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 จึงรวมแล้ว จำคุก 3 คดี เป็นระยะเวลา 8 ปี

ขณะที่ กรมราชทัณฑ์ แถลงกรณีรับตัวนายทักษิณ ตามคำสั่งศาลฎีกาฯ โดย นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ดูเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักก่อน ซึ่งนายทักษิณมีครอบครัวและเพื่อน รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่จะมาเยี่ยมจำนวนมาก ทางเรือนจำจะต้องจัดสถานที่ให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน  อีกทั้งนายทักษิณเป็นผู้สูงอายุ อายุ 74 ปี ทางเรือนจำค่อนข้างต้องดูเรื่องสุขอนามัย เพื่อไม่ให้เจ็บป่วย โดยกรมราชทัณฑ์ได้รับตัว ทำประวัติ ตรวจสุขภาพแล้วเรียบร้อย ขณะนี้อยู่ภายใต้การดูแลของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ นายทักษิณสวมใส่เสื้อสีขาว กางเกงกรมท่าเข้ม เดินเข้าในส่วนของการทำประวัติ สแกนนิ้วมือ ถ่ายภาพ อาการปกติ ไม่มีอาการวิตกกังวล และไม่ได้ร้องขออะไรจากเรือนจำ การคุมขังคงรวมกับนักโทษคนอื่นไม่ได้ ด้วยเรื่องของความปลอดภัยต้องมาอันดับแรก เพราะแดนอื่นมีผู้ต้องขังเยอะ จะคุมลำบาก

นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในการทำทะเบียนประวัติ และทำการตรวจสุขภาพโดยทีมแพทย์ราชทันฑ์ พบว่าประวัติการรักษาของแพทย์เบื้องต้น ต้องเฝ้าระวังโรคประจำตัวและรักษาอย่างต่อเนื่อง จากแพทย์เฉพาะทาง เบื้องต้นแยกคุมขังไว้แดน 7 กรุงเทพฯ แยกไว้แค่คนเดียว จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง

ส่วนเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น ข้อกำหนดยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะราย เป็นสิทธิของผู้ต้องขังทุกคนสามารถยื่นได้

สำหรับกรณีพักการลงโทษและการใส่กำไล EM นายสิทธิ กล่าวว่า การพักการลงโทษเป็นประโยชน์ของผู้ต้องขัง ซึ่งโดยทั่วไปโดยก็ต้องจำมาแล้ว 2 ใน 3 ของการกำหนดโทษ แต่จะมีกรณีพิเศษ คือ จำมาแล้ว 1 ใน 3 สำหรับผู้สูงอายุ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป และป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งท่านเข้าข่ายที่จะพักโทษ ได้ในกรณีพิเศษ คือ ต้องจำมาแล้ว 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ ซึ่งทางเรือนจำเป็นผู้ยื่นดำเนินการให้ เนื่องจากว่ามีข้อมูลนักโทษเหลือโทษเท่าไหร่ และจะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาต่างๆ ว่าจะต้องผ่านการอบรมอะไรบ้าง เช่น กรณีสูงอายุเกิน 70 ปี มีอาการป่วย ผ่านการอบรมต่างๆ เช่น เข้าอบรมการนั่งสมาธิ หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ และก็ดูในเรื่องของชั้นด้วย ซึ่งอยากดูในระยะเวลาตอนนั้นชั้นก็ได้อยู่แล้ว

“หากยื่นขอพระราชทานอภัยโทษก่อน เป็นคนละเรื่องกับการพักการลงโทษต้องแยกกัน ซึ่งการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันนี้เลย ท่านยังไม่ได้ขอยื่นพระราชทานอภัยโทษ ท่านเพิ่งเข้ามาและเพิ่งจะรับตัว ผมคิดว่าเอกสารต่างๆ ก็จะเป็นส่วนของญาติที่จะเตรียมมายื่น แต่หลักๆ ที่อาจจะช้าหน่อย คือ คำพิพากษาที่ต้องไปขอคัดจากศาล เพราะศาลน่าจะมีอยู่แล้วแต่กระบวนการในการไปยื่นขอ” นายสิทธิกล่าว

สำหรับกระแสข่าวว่าอาการสุขภาพของนายทักษิณ แย่มากจนอาจจะต้องส่งต่อไปที่โรงพยาบาลตำรวจ นายสิทธิกล่าวว่า ณ ตอนนี้อาการเบื้องต้น เป็นไปตามที่แพทย์แถลง ดูแลโดยทีมแพทย์ราชทัณฑ์ แต่ต้องเฝ้าสังเกตอาการเป็นระยะ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ตลอดเวลา ต้องดูเป็นรายชั่วโมงไป โดยเป็นไปตามขั้นตอน แต่ถ้าอาการหนักมากๆ ก็สามารถส่งต่อไป รพ.ตำรวจได้ตั้งแต่วันแรก ซึ่งมีหลายเคสที่เวลาเข้ามาแล้วก็ส่งต่อ

ส่วนคืนนี้ นายทักษิณ จะนอนในเรือนจำพิเศษเลยหรือไม่ นายสิทธิกล่าวว่า ณ ตอนนี้ ยังอยู่ ก็ยังถือว่านอนอยู่ ลักษณะเป็นห้องปกติไม่มีแอร์ เป็นห้องพัดลม มีลูกกรง และหน้าต่างไว้ระบายอากาศ ข้างในเป็นห้องใหญ่ๆ อาจจะมีห้องแยก 2 ห้อง โดยมีห้องตรวจของแพทย์ด้วย

นายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานในกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ส่วนของแพทย์กรมราชทัณฑ์ นำเรียนข้อมูลโดยสังเขปของอดีตนายกฯ ทักษิณ พบว่ามีประวัติโรคต่างๆ ได้แก่ ด้านโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ต้องรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง กินยาสลายกล้ามเนื้อ 2.ปอดอักเสบเรื้อรัง ส่งผลต่อความผิดปกติต่อเนื่องในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน จึงทำให้เหนื่อยง่าย ต้องดูแลโดยทีมแพทย์อย่างใกล้ 3.ความดันโลหิตสูง ต้องรักษาโดยการรับประทานยา วันนี้วัดก็ยังผิดปกติอยู่ 4.กระดูกเสื่อม ตรวจโดย MRI ตรวจเส้นประสาทเสื่อมเรื้อรัง จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับ และการตรวจโดยทีมแพทย์ ต้องมีมาตรการต้องดูแลเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อลดการสูญเสีย

นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครการปฏิบัติของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังตรวจร่างการกาย จะมีการส่งจำแนกขังแต่ลักษณะตามแดนที่เหมาะสม ซึ่งมีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ เตรียมความปลอดภัย ด้านกิจกรรมอื่นๆ เป็นเช่นเดียวกันกับนักโทษอื่น ตามปกติของเรือนจำ เรื่องสิทธิอื่นๆ เช่น การขอพบทนาย ตามประมวลกฎหมาย มีสิทธิที่จะขอพบได้ รวมถึงการพบญาติ

สำหรับอาหารมื้อแรกในเรือนจำ นายนัสทีกล่าวว่า เพิ่งรับตัวเมื่อช่วงเที่ยงๆ นายทักษิณบอกว่าไม่ค่อยหิว

“เท่าที่เห็นท่านทานและดื่ม คือ น้ำเปล่าและอะไรเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่เป็นมื้อจริงๆ จังๆ เป็นอาหารเล็กๆ ชิ้นๆ เป็นพวกเบเกอรี่ เพราะเพิ่งเข้าไป ยังคงปรับตัวอยู่ ทำให้ยังไม่หิวเท่าไหร่ ส่วนมื้อเย็นอาหารของเรือนจำจะเป็นพวกข้าวต้มกับผัก ต้องดูว่าท่านทานได้หรือไม่ อย่างไร” นายนัสทีกล่าว

สำหรับระเบียบในการเยี่ยมอดีตนายกฯทักษิณ นายนัสทีกล่าวว่า เบื้องต้นต้องกักตัวก่อน 10 วัน และ 5 วันหลังผ่อนปรนออกไป ญาติสามารถเยี่ยมได้ทางแอพพลิเคชั่นไลน์ และขอเข้าเยี่ยมได้หากพ้น 5 วันหลังนี้ไปแล้ว

“ท่านเป็นกลุ่มผู้เปราะบางกลุ่ม 608 เรายึดหลักของความปลอดภัยเป็นสำคัญ ตั้งแต่เรื่องโควิดมา ต้องมีทีมแพทย์ดูแลตรวจค่าต่างๆ เรื่องอาหารเสริม อาหารเรือนจำ แต่เราใช้ระบบการสงเคราะห์ เช่น ระบบร้านค้าที่มีอาหารเหมาะสมต่อสุขภาพ ใช้เงินซื้อได้วันละ 500-600 เมนูที่เราทำ ราชทัณฑ์ก็ได้จัดทำเมนูที่ไม่มีโซเดียม ซึ่งคนข้างในสามารถเลือกบริโภคได้ เราไม่ได้จะลิดรอนเรื่องของสุขภาพได้ โดยหากผู้ป่วยที่มียารักษาโดยเฉพาะสามารถฝากเภสัช ทีมหมอ พยาบาล เมื่อตรวจเห็นชอบก็สามารถฝากไปถึงนักโทษได้” นายนัสทีกล่าว

ส่วนการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ นายนัสที กล่าวว่า หากตัวท่านเอง ทางญาติ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องยื่นเอกสารทั้งหมดให้ทางเรือนจำ ทางเรือนจำก็จะมีคณะกรรมการในการพิจารณาและส่งไปยังกรมราชทัณฑ์ ทางราชทัณฑ์ก็จะส่งไปยังกระทรวงยุติธรรม และเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี โดยการอภัยโทษ 2 ประเภท เฉพาะราย กับทั่วไปตามวโรกาสต่างๆ ที่จะยื่นก็เป็นการยื่นแบบเฉพาะราย ตามตัวบุคคล โดยทั่วไปกระบวนการไม่นาน ประมาณ 1-2 เดือนขึ้นอยู่กับแต่ละขั้น ส่วนใหญ่จะนานที่การรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง และยื่นไปจนถึงองคมนตรีเรียบร้อย และจะเป็นไปตามพระราชอำนาจ

และสุดท้าย น.ส.แพทองธาร ได้โพสต์ไอจี “ingshin21” ระบุว่า “ขอขอบคุณทุกๆ คนสำหรับความอบอุ่นที่มอบให้กับคุณพ่อในวันนี้ค่ะ คุณพ่อและพวกเราซาบซึ้งมากค่ะ และคุณพ่อฝากขออภัยที่ไม่ได้ไปเดินทักทายพี่น้องประชาชนใกล้ๆ นะคะ เพราะจะลำบากต่อการจัดการเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ค่ะ 🙏🏻 #daddyisback #grateful”

กรศิริ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *