24 ตุลาคม 2024

‘ดร.ษัษฐรัมย์’ ปาฐกถา รำลึก 6 ตุลา เชื่อวีรชนไม่ได้ตายเปล่า แต่ได้สร้างจิตสำนึกคนรุ่นใหม่

0

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ในหัวข้อ “แด่ทุกต้นกล้าความฝัน: ตื่นจากฝันร้ายของอำนาจนิยมและทุนผูกขาดสู่รัฐสวัสดิการ” ตอนหนึ่งว่า มนุษย์สามารถตายได้สองครั้ง ครั้งแรกคือเมื่อลมหายใจปลิดปลิว หรือกระสุนปลิดขั้วหัวใจ เมื่อสมองไม่ทำงาน หรือเมื่องานศพได้จัดขึ้น แต่การตายครั้งที่สอง คือเมื่อคนที่รู้จักได้ลืมเลือนเราออกไปจากหัวสมอง เมื่อเราหายไปจากความทรงจำของผู้คน

“แต่เมื่อไม่นานมานี้ผมเรียนรู้ว่า มนุษย์สามารถฆ่ากันให้ตายได้เป็นครั้งที่สาม ซึ่งยิ่งกว่าการลืมเลือนไปจากหัวใจของผู้คนที่เรารัก แต่คือการบิดเบือน บิดเบี้ยว เจตนาของความตาย เจตนาของการมีชีวิตอยู่ของเรา ให้มารับใช้คนที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การของตนได้เรียนรู้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ใช่ช่องว่างทางประวัติศาสตร์อย่างที่หลายคนเข้าใจ ไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจเรื่องราวเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าคนรุ่นเก่าอยากลืมเลือน ผู้คนรู้จักเหตุการณ์นี้ดี จดจำได้ หากแต่ขึ้นกับว่าบรรยากาศของสังคมในขณะนั้นเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้มีอำนาจ ซึ่งเมื่อใดสังคมมีบรรยากาศอำนาจนิยมหรือเผด็จการ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็จะถูกบิดเบี้ยวและลืมเลือน แม้จะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานก็ตาม

“แต่เมื่อใดที่สังคมมีบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย เมื่อใดที่คนรุ่นใหม่กล้าท้าทาย ไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปนานเพียงใด ผู้คนก็จะไม่ลืมเลือน แต่การรำลึกถึงเหตุการณ์ก็จะเวียนกลับขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะผ่านไปร้อยปี หรือพันปี ฉะนั้นระยะเวลาไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญต่อความจำและความลืมของผู้คนในสังคม” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ปาฐกถาต่อไปว่า สิ่งสำคัญคือเราจะจดจำเหตุการณ์นี้อย่างไร ไม่ว่าเราจะเชื่อในการต่อสู้นี้ในฐานะการต่อสู้ของนักอุดมคติ การสร้างสังคมนิยม หรือการต่อสู้ของคอมมิวนิสต์ก็ตาม แต่ไม่ว่าจะเชื่ออย่างไร ก็ไม่ได้ทำให้ความเลวร้ายในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ นั้นมีความชอบธรรมมากขึ้นแต่อย่างใด และไม่ว่าเราจะรู้จักเหตุการณ์นี้มากน้อยเพียงใด แต่อยากเน้นย้ำว่าเหตุการณ์นี้เป็นภาพสะท้อน ของการที่คนธรรมดาล้วนมีความปรารถนาที่อยากให้สังคมนี้ดีขึ้น เท่าเทียมกันมากขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น

“ยืนยันว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ได้ตายเปล่า แต่ได้สร้างจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ และการต่อสู้ของคนธรรมดา ทั้งหมดนี้คือต้นกล้าแห่งความฝัน การตั้งคำถามของคนธรรมดาต่อความผิดปกติของสังคม ตั้งคำถามต่อความร่ำรวยบนความยากจน ตั้งคำถามต่อเผด็จการเหนือประชาธิปไตย ตั้งคำถามต่อชีวิตอภิสิทธิ์ชนเหนือชีวิตของคนธรรมดาสามัญ ตั้งคำถามต่อความเมินเฉยและเงียบเสียงต่ออำนาจ และทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่อะไรมาก เพียงแค่ยืนยันความเป็นมนุษย์ของพวกเรา” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *