24 ตุลาคม 2024

‘จุลพันธ์’ ชี้แจกเงินดิจิทัลส่อเลื่อน-คนมีเงินฝากส่อปิ๋ว ยอมรับใช้เงินงบประมาณ และมีค่าทำระบบหมื่นล้าน

0

วันที่ 25 ตุลาคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังจากประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ว่า แม้ที่ประชุมมีข้อสรุปชัดเจนหลายประเด็นแล้ว แต่บางประเด็นยังมีข้อขัดแย้ง ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลัง เป็นประธาน สรุปรายละเอียดอีกครั้งในสัปดาห์หน้า และนัดวันประชุมอีกครั้ง

นายจุลพันธ์ ยอมรับว่า มีประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกัน ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยมีข้อเสนอแนะในการกำหนดกลุ่มผู้ที่จะได้รับสิทธิ ซึ่งต้องการให้ตัดกลุ่มคนรวยออก คณะกรรมการก็รับฟังและมีการปฏิบัติตาม โดยมีความเห็น 3 แนวทาง ดังนี้

1.จ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท

2.พิจารณาให้ตัดกลุ่มคนที่มีความพร้อมทางสังคม มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 1 แสนบาท จะเหลือผู้ที่ได้รับสิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท

3.พิจารณาตัดผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 5 แสนบาท จะเหลือผู้ได้รับสิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่วนอีกประเด็นที่ยังสรุปไม่ลง คือ เรื่องของแหล่งเงิน ยังคงยืนยันว่าจะใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก คือใช้เงินในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณแผนประจำปี และดำเนินการเป็นลักษณะของงบผูกพัน โดยตั้งระยะเวลาโครงการเงินดิจิทัลไว้ราว 4 ปี ใช้เงินงบประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท ทำให้อาจจะต้องมีการชะลอการขึ้นเงินของร้านค้าบ้าง โดยใช้วิธีการจูงใจร้านค้าให้ยังคงอยู่ในระบบต่อเนื่องตลอดโครงการ ยิ่งใครอยู่นานก็จะยิ่งมีสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะมีการพิจารณารายละเอียดการจูงใจให้ร้านค้าในอยู่ระบบต่อไป

“การเริ่มต้นโครงการ ซึ่งจะใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 นั้นอาจจะทำให้โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทำได้ล่าช้า เพราะร่างพ.ร.บ.ล่าช้าไป 8 เดือน จึงเป็นไปได้ที่โครงการเติมเงินดิจิทัล จะไปเริ่มได้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2567 แต่ก็จะเร่งการดำเนินให้เร็วที่สุดตามไทม์ไลน์เดิม”

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่วนแหล่งเงินจากทางเลือกอื่นๆ อาทิ เงินกู้นั้น คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่าจะใช้เป็นช่องทางสุดท้าย ส่วนการใช้แหล่งเงินกึ่งการคลัง หรือเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ปี 2561 นั้น ก็เป็นทางเลือกสุดท้ายเช่นกัน ดังนั้นจากกระแสข่าวที่จะใช้เงินจากธนาคารออมสิน และชดเชยตามม.28 นั้น ยืนยันธนาคารออมสินไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้ว ซึ่งการที่ไม่ใช้เงินจากออมสิน เพราะติดขัดเรื่องกฎหมาย ที่ทำให้รัฐบาลไม่มีอำนาจในการดำเนินการ จึงต้องเลือกแหล่งเงินจากงบประมาณเป็นหลัก

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่ชัดเจนแล้ว ได้แก่ การยืนยันตัวตนมีความเห็นตรงกันว่า จะต้องดำเนินการตามกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยผู้ที่เคยได้ใช้สิทธิโครงการของรัฐผ่านแอพพลิเคชันต่างๆ แล้วไม่ต้องยืนยันตัวตน ต้องยืนยันตัวตนเฉพาะผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการเท่านั้น ขณะที่ร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการเปิดให้ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน รวมทั้งสินค้าสำหรับอุปโภคบริโภค เป็นต้น

“แล้วก็ได้ข้อสรุปเกณฑ์รัศมีการใช้จ่ายได้ในระดับอำเภอ ซึ่งไม่ได้มีขนาดใหญ่เกินไปที่จะมีการกระจุกตัวของเม็ดเงิน และยังมีร้านค้าเพียงพอให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย โดยระบบการขึ้นเงินของร้านค้านั้น จะต้องเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม นิติบุคคล และบุคคลธรรมดาที่อยู่ในระบบภาษี ส่วนผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาระบบแอพพ์การจ่ายเงินดิจิทัลนั้น ที่ประชุมมีมติให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาระบบ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม และมีแพลตฟอร์มในการรองรับ ซึ่งสะดวกต่อการพัฒนา ยืนยันว่าค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งการพัฒนาระบบแอพของรัฐในอดีตที่ผ่านมาก็ใช้งบประมาณไม่ถึงหลักหมื่นล้านบาท” นายจุลพันธ์ กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *