24 ตุลาคม 2024

‘ศิริกัญญา’ เตือนฝืนออก พ.ร.ก.เงินกู้ แก้ทางตันแจกเงินดิจิทัล ระวังฆ่าตัวตายทางการเมือง

0

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีหลักเกณฑ์แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งอาจจะไม่ได้ครบทุกคน ว่า คิดว่า ปัญหาสำคัญที่จำเป็นจะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ที่คัดกรองคนรวยออก ไม่ว่าจะเป็น 1.คนที่มีเงินเดือน 25,000 บาท ขึ้นไป 2.เงินเดือนเกิน 50,000 บาท ขึ้นไป 3.ตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลน่าจะมีปัญหาในเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการอย่างแน่นอน จึงจำเป็นที่จะต้องลดจำนวนคนที่ได้รับผลประโยชน์ แต่ถึงแม้จะพยายามลดจำนวนลงแล้ว แต่ยังพบว่ามีคนที่จะต้องได้รับอยู่ที่ประมาณ 43-49 ล้านคนอยู่ดี ดังนั้นโอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก็มีค่อนข้างน้อย

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เรื่องข้อเสนอที่จะใช้งบผูกพันปีละ 1 แสนล้านบาท เป็นเวลา 4 ปี ยิ่งชัดเจนว่าหลังจากคำนวณแล้ว แสดงว่า งบปี 67 มีที่ว่างให้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพียงแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น และหากต้องผูกพันไป 4 ปี เท่ากับว่า จะมีร้านค้าบางส่วนที่จะไม่ได้เงินสดในทันที แต่ต้องรอแลกเป็นรายรอบปีงบประมาณ ซึ่งจะกระทบกับร้านค้า เพราะหากต้องการเงินสดมาหมุนเวียนในร้านค้าของตัวเอง ก็จะไม่มีแรงจูงใจมากพอ และจะไม่เข้าร่วมในโครงการ ถือเป็นการตอกย้ำกับสิ่งที่ได้เคยพูดไว้แล้วว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาถึงทางตันแล้ว เนื่องจากไม่สามารถที่จะให้ธนาคารของรัฐ หรือธนาคารออมสินดำเนินโครงการนี้ ออกไปก่อนได้ จึงติดข้อจำกัดหลักที่เป็นตอใหญ่ คือเรื่องของงบประมาณและที่มาที่จะต้องใช้ในครั้งนี้

“คิดว่าการปรับเงื่อนไขในครั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่ายังคงสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ และผลที่คาดว่าจะได้รับดั้งเดิมหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนไปหมดแล้วก็อาจจะต้องทบทวนวิธีการและนโยบายใหม่ทั้งหมดด้วยซ้ำไป”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวถึงการปรับหลักเกณฑ์ อาจจะทำให้จำนวนผู้ที่ได้รับเงินลดลงไป ว่า จริงๆ ลดไปแค่นิดเดียว หากใช้เกณฑ์แรกจะลดลงไปแค่ 13 ล้านคน หากใช้เกณฑ์ที่สอง จะลดไปแค่ 7 ล้านคน ดังนั้น การปรับหลักเกณฑ์เหล่านี้อาจจะไม่ช่วยอะไรมากนักในแง่ประหยัดงบประมาณ เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรต่อ แต่ถ้าปรับไปใช้ทางเลือกที่สาม คือใช้เกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการประคับประคองค่าครองชีพให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน เป็นการเปลี่ยนรูปแบบ วัตถุประสงค์ และผลที่จะได้รับอย่างชัดเจน ดังนั้น ถ้าจะคงรูปแบบเป็นแค่การแจกเงินไว้ แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูด ก็ควรจะต้องมีการทบทวน เข้าใจดีว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ แต่ถ้าสามารถบอกได้อย่างตรงไปตรงมา ว่าติดปัญหาเรื่องอะไร คิดว่าประชาชนจะเข้าใจได้ ว่ารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะทำโครงการนี้ แต่มีอุปสรรคชิ้นใหญ่ คืองบประมาณ

ส่วนคำว่า ทบทวน หมายถึงยกเลิกโครงการนี้ใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เป็นการเปลี่ยนวิธีการมากกว่า เข้าใจดีว่าสัญญาทางใจที่มีไว้ให้ผู้สนับสนุนก็สำคัญเช่นกัน แต่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกันก็มีวิธีการที่จะไปได้หลายทาง

กรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า จะไม่ใช้งบผูกพัน แต่หากงบกลางปี 67 ไม่เพียงพอ ก็จะต้องใช้งบผูกพันใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ถ้าเป็นหลักเกณฑ์แรกที่จะต้องใช้เม็ดเงิน 430,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 67 ไม่พอแน่นอน ถ้าไม่ใช่งบผูกพันเลยก็น่าจะมีเม็ดเงินอยู่ 1 แสนล้านบาท ซึ่งก็จะเปิดทางให้หลักเกณฑ์ข้อที่ 3 นั่นคือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนั้น จึงอยากให้พุ่งไปที่แหล่งที่มางบประมาณมากกว่า มีเงินเท่าไหร่กันแน่ที่จะใช้ทำโครงการนี้

หากรัฐบาลใช้วิธีออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน จะเป็นไปได้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในทางเทคนิคการออก พ.ร.ก.เงินกู้เหมือนช่วงวิกฤตโควิด ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินนั้นเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด แต่ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน ว่า พ.ร.ก.จะออกได้ เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น ก็ต้องถามสำนักบริหารหนี้ ส.บ.น. ว่าจะยอมกู้ให้หรือไม่ในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ แต่ในทางการเมืองต้องยอมรับว่า การออก พ.ร.ก.เงินกู้ขณะนี้ ที่ไม่ได้เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหนักขนาดนั้นก็ต้องเจอแรงต้านมหาศาลแน่นอน

“เตือนไว้ว่า ถ้าออกเป็น พ.ร.ก.เงินกู้เมื่อไหร่ นี่อาจจะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองได้” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *