24 ตุลาคม 2024

จบเห่! ประชาธิปัตย์ ‘อภิสิทธิ์’ ลาออก เซ่นศึกชิงหัวหน้าพรรค

0

วันที่ 9 ธันวาคม 2566 พรรคประชาธิปัตย์ จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมีคนสำคัญของพรรคและสมาชิกมาร่วมประชุมอย่างคึกคัก อาทิ นายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรคฯ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าและรักษาเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. ในฐานะผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 นายนราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และสมาชิกพรรค เป็นต้น และมี ตัวแทนสมาชิกพรรคบางส่วน ถือป้ายสนับสนุนให้นายเฉลิมชัย ให้รับเป็นหัวหน้าพรรค โดยระบุให้ “เฉลิมชัย สู้ สู้” ซึ่ง นายเฉลิมชัย ให้สัมภาษณ์ถึงการตัดสินใจรับมติ 21 ส.ส.หนุนชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้วหรือไม่ ว่า ขอให้ที่ประชุมตัดสิน

สำหรับวาระสำคัญ คือการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ปรากฏว่า นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรค เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีเสียงรับรองถูกต้อง ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ ได้ลุกขึ้นเปิดใจ และได้ขอคุยส่วนตัวกับนายเฉลิมชัย ทำให้ต้องพักการประชุมไปราว 10 นาที เพื่อให้ นายอภิสิทธิ์ และนายเฉลิมชัย พูดคุยกัน

หลังกลับมาประชุมอีกครั้ง โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้มีการพูดกันว่าคุยกันนิดเดียวก็รู้เรื่อง เข้าใจตรงกันทุกอย่าง โดยนายเฉลิมชัยได้อธิบายว่ามีแนวทางจะเดินหน้าอย่างไร ตนเองก็อธิบายว่ามีความคิดอย่างไร ความจริงก็ขยายความไปเยอะก่อนหน้านี้ จึงได้แจ้งกับนายเฉลิมชัยว่าจะขอถอนตัวจากการเป็นผู้สมัคร

“ผมขอถอนตัวจากการเป็นผู้สมัคร และขอลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีพรรคอื่น ไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดออกมาเป็นสีฟ้า จนวันตาย เป็นลูกพระแม่ธรณี ที่จะเอาอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ รับใช้บ้านเมืองต่อไป วันข้างหน้าถ้าพรรคคิดว่าผมจะเป็นประโยชน์มาช่วยได้ ก็ไม่ปฏิเสธ แต่วันนี้เพื่อให้ผู้ที่มีสถานะ ทำงานด้วยความสบายใจ เต็มที่ ไม่ต้องหวาดระแวง ขอลาออก และขอบคุณเพื่อนๆทุกคนที่อยู่ในห้องและไม่อยู่ และเจ้าหน้าที่พรรค ที่ทำงานให้การสนับสนุนตลอดมา หวังว่าผู้บริหารชุดใหม่ จะทำงานได้สำเร็จตามที่รักษาการหัวหน้าได้แจ้งสักครู่ ขอบคุณครับ” โดยมีเสียงปรบมือเต็มห้องประชุม และได้เดินออกจากห้องประชุมทันที

ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับกรณี หัวหน้าพรรคคนใหม่ และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มีแนวทางที่จะนำพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งคนในพรรคจำนวนไม่น้อยเป็นห่วงว่าจะยิ่งทำให้พรรคตกต่ำมากขึ้น

ส่วน น.ส.วทันยา ไม่ได้รับมติให้เป็นผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรคคนใหม่ได้ เนื่องจากยังเป็นสมาชิกพรรคไม่ครบ 5 ปี
.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *