23 ตุลาคม 2024

แม้ว่าคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่แล้วก็จริง

แต่เพราะในภาพรวมทั่วประเทศ จะได้ปรับขึ้นแค่ 2 บาท ไปถึง 16 บาท

ระบุว่าให้มีผลบังคับใช้เพื่อจะได้ให้เป็นของขวัญปีใหม่ผู้ใช้แรงงาน

งานนี้ เจอคำถามระงม นี่คือของขวัญปีใหม่สำหรับผู้ใช้แรงงานแล้วหรือ?

จังหวัดที่ได้ขึ้นแค่ 2 บาท แปลว่าหากอยากจะซื้อไข่ไก่มาต้มกิน ก็ต้องใช้เงินที่เพิ่มขึ้นถึง 2 วัน

แต่หากเป็นราคาข้าวแกง อาหารตามสั่งในยุคปัจจุบัน ที่หากจะเพิ่มไข่ 1 ฟอง ร้านอาหารจะคิดเพิ่ม 10 บาท แปลว่าต้องใช้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นถึง 5 วัน กับการได้กินไข่ดาวเพิ่ม 1 ฟอง

ไม่แปลกที่ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ถึงกับควันออกหู

แต่สิ่งที่ต้องมองมุมกว้าง ภายใต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในเวลานี้ ต้องถามว่ารัฐบาลนอกจากสาละวนกับการแก้โจทย์แจกเงินดิจิทัลที่คิดมาแบบไม่สะเด็ดน้ำ

ได้มีการเร่งเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดค่าครองชีพให้ประชาชนอย่างจริงๆจังๆหรือไม่

ทุกวันนี้ ที่รัฐบาลปาวๆว่า ลดราคาน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า เพื่อลดภาระประชาชน ถามว่า เอาง่ายๆ แค่ค่ารถสองแถว ค่ารถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ค่ารถแท๊กซี่ และโดยเฉพาะราคาข้าวแกง ราคาก๋วยเตี๋ยว ราคาอาหารตามสั่ง มีลดราคาให้เห็นบ้างมั้ย?

แถมบางพื้นที่บางแห่ง ขึ้นราคาเพิ่มขึ้นไปอีก พอถามว่าทำไม ก็จะตอบเหมือนกันว่าทุกวันนี้ของแพงมาก แก๊สหุงต้ม ถังขนาด 15 กิโล วิ่งไปจะทะลุถังละ 500 บาทแล้ว แก๊สคือต้นทุนตรงที่เป็นต้นเหตุราคาอาหารแพงขึ้น

สั่งลดค่าไฟฟ้าลงมาเมื่อ 18 กันยายน ให้ลดค่าไฟ 4 เดือน ไปถึงธันวาคม แต่ไม่ทันที่จะครบกำหนดลดราคา กกพ. ก็ประชุมกันในปลายเดือนพฤศจิกายน จะเพิ่มค่า FT ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าแพงกลับขึ้นไปในต้นปีหน้านี้อีกแล้ว

เหมือนกับราคาน้ำมันเบนซินนั่นแหละ ลดลงมา แล้วสุดท้ายก็เด้งกลับไปแพงเหมือนเดิม

การลดราคาฉาบฉวย ในแง่ภาพทางการเมืองถือเป็นแต้มบวก แต่ในทางปฏิบัติที่มีผลแค่แป๊บเดียว ไม่ได้ช่วยประชาชนให้ลดภาระได้จริงๆจังๆ

ถ้าแก้ปัญหาพื้นฐานยังไม่ได้ การกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะไม่ได้ผลอย่างที่หวัง

นี่คือโจทย์ที่ท้าทายฝีมือรัฐบาลเศรษฐาเป็นอย่างยิ่ง

อัคคี กัมปนาท

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *