24 ตุลาคม 2024

‘ชัยธวัช’ เหน็บ งบปี67 ไร้ยุทธศาสตร์ สะท้อนรัฐบาลเศรษฐา แค่ ‘รวมการเฉพาะกิจ’

0

เมื่อวันที่ 3 มกราคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายภาพรวมของงบประมาณว่า วันนี้ฟังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อ่านคำแถลงประกอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ ทำให้นึกถึงบรรยากาศวันที่นายกฯแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพราะเต็มไปด้วยข้อความสวยหรูทุกด้าน แล้วผลเป็นอย่างไร สวยหรูเหมือนที่แถลงไว้หรือไม่ ซึ่งวันที่ 11 กันยายน 2566 นายกฯแถลงนโยบายก็บรรยากาศแบบนี้ เพิ่มเติมคือมีตัวเลขรวมมาให้ในแต่ละยุทธศาสตร์ แต่หากไปดูเนื้อในแล้วกลับเลื่อนลอย จับต้องไม่ได้ สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีลำดับความสำคัญ

โดยในวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายกฯระบุว่าประเทศไทยเผชิญกับวิกฤต 3 ด้านคือเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญ และความขัดแย้งในสังคม และเพื่อแก้ปัญหา รัฐบาลมีกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ได้แก่ กรอบระยะสั้น รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกาย ให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ส่วนกรอบระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน ซึ่งฝ่ายค้านได้อภิปรายว่า นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ไม่เหมือนกับที่เคยหาเสียงเอาไว้ ไม่มีความชัดเจน ไม่มีรูปธรรมที่จับต้องได้ แต่วันนั้นนายกฯบอกว่าให้รอดูแผนรายกระทรวงจะมีความชัดเจนแน่นอน ซึ่งเมื่อตามไปดูแผนรายกระทรวงก็พบว่ามีปัญหาคือ ไม่ได้มีตัวชี้วัดชัดเจน ไม่สามารถวัดความสำเร็จของนโยบายได้จริง หรือไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางนโยบาย เมื่อมาดูไส้ในของแผนงานเหล่านั้นพบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิมๆ ที่กระทรวงทำอยู่แล้วทุกปี เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่

นายชัยธวัช กล่าวว่า ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติสั่งทบทวนร่าง พ.ร.บ.งบปี 67 ใหม่ และเห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ พร้อมทบทวนแนวทางการจัดทำงบประมาณและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ใหม่ รัฐบาลใช้เวลา 3 เดือนในการปรับปรุง พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การจัดสรรงบใหม่ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายใหม่ แต่สุดท้ายหน้าตาของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้กลับไม่ต่างไปจากเดิม และหากดูเนื้อในของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ จะพบว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรเลย หัวข้ออาจจะสวยหรู แต่ไส้ในตอบไม่ได้ว่าจะบรรลุเป้าหมายอย่างไร

“ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่ตอนแถลงนโยบายบอกว่าจะไม่กู้ จะบริหารจากงบปกติ แต่วันนี้ชัดเจนแล้วว่าไม่มีการตั้งงบใดๆ ไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบ 67 เราคงต้องว่ารัฐบาลจะสามารถเสนอ พ.ร.บ.เงินกู้เข้าสู่สภาได้หรือไม่”

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า หากดูภาพรวมของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ จะพบว่าเป็นงบประมาณแบบเบี้ยหัวแตก สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ เหมือนทำงานอย่างไม่มีวาระเป้าหมายชัดเจน บางเรื่องหน้าปกอาจจะดูดี แต่พอเข้าไปดูไส้ในแล้ว พบว่าไม่ได้ยึดโยงกับเป้าหมายทางนโยบาย ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิมๆ แต่เอามาเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนปกใหม่แบบมั่วๆ โครงการเก่าๆ เดิมๆ แต่เอามาโยงให้เข้ากับเป้าหมายใหม่ แถมนับรวมทุกรายจ่ายแล้วมาเคลมว่าเป็นงบสำหรับการลงทุนใหม่ของรัฐบาลใหม่ ที่ชอบทำกันมากที่สุดคือ งบตัดถนน กลายเป็นโครงการวิเศษที่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกยุทธศาสตร์ ทั้งยังพบว่ามี 200 โครงการใหม่ จากทั้งหมด 2,000 โครงการ ซึ่งโครงการใหม่ส่วนใหญ่เกิดจากหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นมาก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ เป็นโครงการที่หน่วยงานราชการเสนอขึ้นมา ไม่ใช่การผลักดันเพื่อขับเคลื่อนวาระใหม่ของรัฐบาล โครงการใหม่จริงๆ ที่สะท้อนวาระของรัฐบาลจึงมีน้อยมาก

และยังมีการคาดการณ์รายได้เกินจริงประมาณแสนล้านบาท เพื่อที่จะเพิ่มแผนรายจ่ายได้สูงขึ้น ขณะเดียวกันกลับตั้งงบรายจ่ายที่ต้องใช้แน่ๆ หรือคาดการณ์ได้ว่าต้องจ่ายไว้ไม่พอ เช่น บำเหน็จบำนาญ เงินเดือนราชการ งบสวัสดิการ นโยบายเพิ่มเงินเดือนราชการ 10% ค่าชดเชยภาษีรถ EV ค่าไฟชดเชยหนี้ กฟผ. จากนโยบายลดค่าไฟ งบซอฟต์เพาเวอร์ที่โฆษณาไว้ว่าจะลงงบกว่า 5,000 ล้าน สุดท้ายก็ต้องปัดไปเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในปีถัดไป และปัดเป็นงบกลาง ด้วยสถาพเช่นนี้จึงมองไม่เห็นวาระเป้าหมายของรัฐบาลผ่านการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้

“รัฐบาลแถลงนโยบายเร่งด่วนว่า จะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม แต่วันนี้ไม่แน่ใจแล้วว่า รัฐบาลกำลังจะทำให้สถานการณ์เรื่องระบบนิติธรรมนิติรัฐเลวร้ายลงไปอีกหรือไม่ เพราะสังคมกำลังถูกตอกย้ำให้อยู่กับกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน ถูกตอกย้ำว่าพวกเราต้องยอมรับอยู่ในกฎหมายหรือเรือนจำที่มีไว้ใช้สำหรับประชาชนสามัญที่ไม่ได้มีอำนาจ บารมี หรือเงินทองเท่านั้น”

นายชัยธวัช กล่าวว่า ปัญหาของ พ.ร.บ.งบประมาณ ยังสะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ การที่มองไม่เห็นวาระเป้าหมายของรัฐบาลผ่านการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่า จริงๆแล้วรัฐบาลชุดนี้เป็นเพียงรัฐบาลรวมการเฉพาะกิจ ที่ไม่ได้มีวาระเป้าหมายทางนโยบายที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน เป็นการรวมการเฉพาะกิจเพื่อแบ่งปันอำนาจกัน แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ชั่วคราว ทำให้ได้เห็นการจัดตั้ง ครม.แบบผิดฝาผิดตัวเต็มไปหมด เพราะไม่ได้แบ่งงานกันตามวาระเป้าหมาย แต่แบ่งกันตามโควตาทางการเมือง วางเจ้ากระทรวงไม่ถูกกับงาน วันนี้จากที่เคยบอกว่าคิดใหญ่ทำเป็น บางวันก็กลายเป็นคิดไปทำไป คิดสั้นไม่คิดยาวบ้าง หรือไม่ก็คิดอย่างทำอย่างก็มี

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้จะมีวาระร่วมกันจริงๆ ก็คงเป็นวาระเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางอำนาจของชนชั้นนำ เพราะสภาวะการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลชุดนี้ ได้แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่า นี่เป็นการรวมตัวกันเพื่อรักษาสภาวะเดิมของสังคมไทยเอาไว้ เป็นการรวมตัวกันเพื่อพยายามฝืนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เป็นการรวมตัวกันเพื่อปกป้องพลังทางสังคมแบบจารีต และต่อต้านพลังทางสังคมใหม่ๆ ที่ต้องการอนาคตที่ดีกว่านี้ โดยหากประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้ากว่านี้ได้ จำเป็นต้องปฏิรูประบบงบประมาณ ระบบรัฐราชการ และกระบวนการกำหนดนโยบายที่ล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพ แต่หลังการรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา รัฐราชการและชนชั้นนำจารีตได้กลับมาควบคุมสังคมไทยอีกครั้ง เราจึงไม่เห็นเจตจำนงและความพยายามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในการปฏิรูปรัฐไทยอย่างจริงจังอีกครั้ง เพราะพลังทางการเมืองที่เคยเป็นพลังใหม่ เคยเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันกลับเข้าไปร่วมสมาคมเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจเก่าแล้ว

“ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่เรากำลังพิจารณาอยู่ก็สะท้อนสภาวะการเมืองที่เป็นจริงอันนี้ ในฐานะฝ่ายค้านอยากสื่อสารไปยังรัฐบาลว่าเราไม่สามารถอยู่กันแบบเดิมๆ ได้อีกแล้ว รัฐบาลทราบดีว่าหลังรัฐประหาร 2 ครั้งระบบรัฐราชการรวมศูนย์ของไทยกลับมาเติบโตขึ้นอีกครั้ง เรารู้อยู่แล้วว่าเราจะเดินไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้โดยพยายามไม่ปฏิรูปรัฐไทยอย่างจริงจังและงบประมาณไม่ได้อีกแล้ว เพราะไม่ตอบโจทย์ของสังคมและความคาดหวังของคนไทย เราไม่อยากเห็น พ.ร.บ.งบประมาณที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว แม้จะเป็นฝ่ายค้านแต่ก็พร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการปฏิรูประบบราชการ ระบบงบประมาณครั้งใหญ่ เพราะมีความสำคัญต่อการสร้างอนาคตร่วมกัน และขอให้ฝ่ายบริหารเปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของพวกเรา ด้วยหวังว่าการพิจารณางบประมาณของสภา จะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แม้เราจะผิดหวังกับร่าง พ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้อย่างถึงที่สุดก็ตาม”นายชัยธวัช กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *