24 ตุลาคม 2024

‘เศรษฐา’ โชว์ 6 แผน ใช้จัดสรรงบปี 67 ยันแม้งบขาดดุลแต่ยึดกรอบวินัยการคลัง

0

เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการคลัง และ รัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง เช่นเดียวกับ สส.ฝ่ายค้าน และรัฐบาล

นายเศรษฐา ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.งบฯ67 ว่า การจัดทำร่างพ.ร.บ.งบฯ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน นโยบายของรัฐบาลตามที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจและฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสต์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความ มั่นคงแห่งชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์​และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

นายเศรษฐา กล่าวว่า งบปี 67 มุ่งทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีผ่านการดำเนินนโยบายที่จะครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยมีการดำเนินการทั้งระยะเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นและนโยบายระยะกลางระยะยาว เพื่อเสริมขีดความสามารถในการเจริญเติบโตของประเทศ ซึ่งการปรับลดเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลงมาเหลือเพียงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่3 ของปี 66 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังสูญเสียความสามารถในการเจริญเติบโต การลงทุนของภาคเอกชนลดลง การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัยของประเทศ รวมทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆสูงขึ้น ดังนั้นเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ

นายเศรษฐา ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับด้านสังคมและความมั่นคง โดยรัฐจะลงทุนการเชื่อมต่อข้อมูลทั้งระบบ อัพเกรดระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ดียิ่งขึ้น และจะดูแลลูกหลานของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติด โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย รวมทั้งจะสกัดกั้น ยาเสพติดที่ลักลอบข้ามพรมแดนด้วยมาตรการจับกุมและยึดทรัพย์ผู้ผลิต ผู้ค้า และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง

“ส่วนในด้านการเมืองการปกครอง ประชาชนจะได้เห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะแก้ไขจุดด้อยของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ผ่านการทำงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบนหลักการที่เป็นไปได้มากที่สุดและเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ในสังคมไทย”

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ67 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิจำนวน 2,912,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการ กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 125,800 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,787,000 ล้านบาท และมีเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 693,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับ จำนวน 3,480,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย

“จากการเพิ่มขึ้นของประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ 2567 จะทำให้รัฐมีรายได้ 2,787,000 ล้านบาท หรือเพิ่มกว่าร้อยละ 11.9 ทำให้รัฐบาลมีการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณลดลงจากปีงบประมาณที่ผ่านมา และสามารถตั้งงบประมาณชำระคืนต้นเงินกู้ การชดใช้เงินคงคลัง และการตั้งงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้”

ด้านฐานะการคลัง หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 มีจำนวน 11,125,428.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 10,537,912.7 ล้านบาท ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 297,093.6 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณรายจ่ายฯ 2567 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ได้กำหนดไว้ 6 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคงรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 390,149.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.2 ของวงเงินงบประมาณ การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ งบประมาณ 12,695.1 ล้านบาท เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมธำรงรักษาไว้เป็นสถาบันหลักของชาติ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 393,517.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.3 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกด้าน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 561,954.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.1 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี การศึกษาได้รับการปฏิรูปให้ตอบสนองต่อนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 834,240ล้านบาท หรือร้อยละ 24 เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐานทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 131,292.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 604,804.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.4 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ พื่อลดปัญหาการทุจริตในสังคมไทย

นายเศรษฐา กล่าวว่า ส่วนการดำเนินการภาครัฐ ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 564,041.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยที่ตั้งรายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 99,300.0 ล้านบาท และมีในส่วนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 346,380.1 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 118,320 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 228,060.1 ล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐมีประสิทธิภาพ ส่วนรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 118,361.1 ล้านบาท เพื่อชดใช้เงินคงคลังที่ได้ใช้จ่ายไปแล้ว

“งบประมาณประจำปี2567 มีงบประมาณรายจ่าย 3,480,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการจัดเก็บรายได้ 2,787,000 ล้านบาท และจะมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท แม้งบประมาณรายจ่ายปีนี้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้นกว่าร้อยละ 11.9 ทำให้สามารถจัดสรรงบไปลงทุนได้กว่า 717,722.2 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 4.1 และสามารถชดใช้เงินคงคลังและชำระคืนต้นเงินกู้ได้กว่า 118,361.1 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการเตรียมพร้อมทำให้รัฐบาลมีกรอบในการลงทุนในระยะกลางและยาวมากขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อีกด้วย”นายเศรษฐา กล่าว

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ได้ใช้เวลาอ่านคำชี้แจงเหตุผลในการจัดทำงบประมาณฯปี 67 เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *