24 ตุลาคม 2024

เอาแล้ว! เลขาฯกฤษฎีกายืนยัน ไม่มีคำว่า ไฟเขียวพ.ร.บ.เงินกู้ มีแต่ให้ทำตามกฎหมาย

0

วันที่ 9 มกราคม นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งความเห็นถึงกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับเรื่องการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาทไปแล้ว โดยความเห็นดังกล่าวอาจจะต้องถูกนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ซึ่งกระทรวงการคลังต้องเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด

นายปกรณ์ กล่าวว่า ขอชี้แจงว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีคำว่าไฟเขียว และเข้าใจว่านายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ไม่ได้ระบุว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ไฟเขียว โดยให้ความเห็นที่เป็นเรื่องข้อกฎหมายเพียงอย่างเดียวตามที่กระทรวงการคลังได้ถามมาว่าสามารถออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ได้หรือไม่ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีการเป็นนักกฎหมายต้องมาดูว่าเงื่อนไขตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ในมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 มีอะไรบ้าง โดยเงื่อนไขนั้นระบุว่า เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องไปพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะนักกฎหมายตอบได้เพียงเท่านี้

“ส่วนจะออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่ ตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ก็บอกแล้วว่าออกเป็นกฎหมายได้ หรือจะออกเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นั้น ก็แล้วแต่ เพราะเป็นกฎหมายเหมือนกัน”

สำหรับคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่ได้มีอะไร เป็นการอธิบายมาตรา 53 เท่านั้น และระบุไปว่าต้องรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้ และขอย้ำว่าตนเป็นนักกฎหมาย ไปชี้ไม่ได้ว่าต้องทำอย่างไร เรื่องนี้ต้องอาศัยตัวเลขเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

ส่วนความคิดเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเป็นข้อยืนยันและรับประกันว่ารัฐบาลจะไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมายหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า อันนี้ไม่รู้ แต่สามารถใช้อ้างอิงได้ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกายืนตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

กรณีนี้การันตีได้หรือไม่ว่าถ้ารัฐบาลทำตามคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วจะปลอดภัย นายปกรณ์กล่าวว่า ถ้าทำตาม ปลอดภัยแน่นอน

“ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไข ก็ไม่มีปัญหา”

นายปกรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า การที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง บอกว่าให้กู้ได้ด้วยการตราเป็นกฎหมาย กฎหมายก็มี พ.ร.บ.กับ พ.ร.ก. ซึ่งที่ผ่านมาออกเป็น พ.ร.ก. ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ถ้าถามว่าออกเป็นพระราชบัญญัติทำได้หรือไม่นั้น ก็ทำได้ เคยพิจารณา 3 วาระรวดแล้วก็มี ไม่ใช่อะไรที่ยาก

ส่วนว่าระหว่างการออกเป็น พ.ร.บ.กับ พ.ร.ก. อะไรปลอดภัยกว่ากัน นายปกรณ์กล่าวว่า ถ้าเรียกว่าปลอดภัย คงไม่ได้ เพราะปลอดภัยทั้งคู่ถ้าถูกต้องตามเงื่อนไข ไม่มีปัญหา

“ก็ไม่ได้ห่วงอะไรเลย เวลารัฐบาลทุกชุดจะทำอะไร ไม่ใช่เฉพาะชุดนี้ จะต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลและข้อเท็จจริง จึงเชื่อว่าทุกคนจะอยู่บนข้อเท็จจริงเหล่านี้เหมือนกัน”นายปกรณ์ กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *