24 ตุลาคม 2024

ประชุมร่วม ‘อัยการ-ตำรวจ’ มีมติแจ้งข้อหาอดีตผู้การชลบุรี-พวก ผิดกม.อุ้มหาย จ่อออกหมายเรียก 12-13 ก.พ.

0

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2567 ที่ห้องประชุมตึกกองบังคับการกฎหมายเเละคดีตำรวจภูธรภาค 1 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ถนนวิภาวดี คณะพนักงานสอบสวนในคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับทรัพย์จากเครือข่ายเว็บไซต์พนันออนไลน์ 140 ล้านบาท นำโดยนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน หัวหน้าชุดคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน พร้อมด้วย พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนชุด เเละคณะอัยการเเละตำรวจรวมประชุม

โดยคดีนี้มีผู้เสียหาย 6 ราย แจ้งความที่ สภ.คูคต จ.ปทุมธานี เพื่อให้ดำเนินคดีกับ พล.ต.ต.กัมพล ลีลาประภาภรณ์ อดีตผบก.ภ.จว.ชลบุรี พร้อมพวกรวม 10 คน เรียกรับเงินกว่า 140 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่มาของวลีเด็ดว่า “เป้รักผู้การเท่าไหร่…เป้เขียนมา” ซึ่ง พล.ต.ต.กัมพล ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

การประชุมใช้เวลาตั้งเเต่ 09.00 น.-15.00 น.เศษเป็นเวลากว่า 6 ชั่วโมง ซึ่งภายหลังการประชุม นายวัชรินทร์ พร้อมด้วยพล.ต.ท.อัคราเดช ได้ให้สัมภาษณ์ โดย พล.ต.ท.อัคราเดช กล่าวว่า การประชุมตั้งแต่เช้าเพื่อความละเอียดรอบคอบและรัดกุมมากที่สุดซึ่งการสอบพยานทั้งหมดซึ่งสอบไปแล้ว 130 กว่าปาก การพิจารณาในการที่จะดำเนินคดีคนใดบ้างซึ่งตรงนี้ก็ได้ข้อสรุปแล้วว่าจะมีผู้เเจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 22 รายโดย พล.ต.ต.กัมพล อดีต ผบก.ภ.จว.ชลบุรีก็โดนเเจ้งข้อหา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯด้วย

นายวัชรินทร์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน หัวหน้าชุดคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน กล่าวว่า จากการประชุมชุดของอัยการที่เป็นชุดที่พิจารณาร่วมกันได้ใช้ความละเอียดมากตั้งเเต่ 09.00 น. จนได้บทสรุปความผิดในคดี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พ.ร.บ.อุ้มหายฯโดยมีการเเจ้งข้อหาผู้ต้องหาที่เป็นข้าราชการตำรวจทั้งสิ้น 17 นายและมีพลเรือนที่ไม่ได้เป็นตำรวจอีก4นาย เเละครั้งนี้มีมติให้เเจ้งข้อหารายใหม่เพิ่มอีก1ราย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่ง 1 รายใหม่นี้เป็นคดีอันเป็นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเเต่ไม่มี พ.ร.บ.อุ้มหายฯทั้งสิ้น 22 ราย

ในส่วนพล.ต.ต.กัมพล อดีต ผบก.ภ.จว.ชลบุรีกับพวกรวม 21 ราย เดิมพนักงานสอบสวนชุดเดิมได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไว้ ก็คือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา149 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับ เเละความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และข้อหาอื่นๆที่มีรายละเอียดปลีกย่อย แต่วันนี้มีการพิจารณาว่าเข้าตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯซึ่งข้อหาในส่วนนี้ชุดพนักงานสอบสวนมีการพิจารณาเมื่อพนักงานอัยการเข้ามากำกับและตรวจสอบการสอบสวนซึ่งเป็นไปตามมาตรา 31 ในส่วนที่มีพลเรือนโดนข้อหานี้ด้วยเพราะในพ.ร.บ.ฉบับนี้ข้อสำคัญคือไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ สามารถถูกดำเนินคดีเพราะมีการกระทำที่ร่วมกันกระทำความผิดได้บทนิยามถือไว้เลยว่า แม้ไม่ใช่เจ้าพนักงานแต่เจ้าพนักงานให้ทำหน้าที่หรือให้ช่วยเหลือก็ถือว่าได้มีการกระทำความผิด ตรงนี้ไม่ได้เป็นการสนับสนุนแต่เป็นการร่วมกันกระทำผิด

ส่วนจะสรุปสำนวนพร้อมความเห็นส่งอัยการสำนักปราบปรามทุจริตฯได้เมื่อไหร่นั้นขั้นตอนจะต้องแจ้งข้อหาเพิ่มเติมก่อน ต้องทำหนังสือออกหมายเรียกไปให้ผู้ต้องหาดังกล่าวทั้ง 22 ราย มาพบพนักงานสอบสวน เพื่อทำการแจ้งข้อกล่าวหาในวันที่ 12 เเละ13 ก.พ.ให้มารับทราบข้อกล่าวหาที่กองบังคับการกฎหมายเเละคดีตำรวจภูธรภาค 1 ตนเห็นว่าบางทีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่าการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฏหมายที่ออกมาใหม่ หลักสำคัญคือการจับกุมผู้ต้องหา1. ต้องมีการแจ้งการจับตามมาตรา 22 หลังจากแจ้งการจับเสร็จแล้วจะต้องส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี แต่ถ้าเกิดมีการจับแล้วไม่ได้มีการนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฏหมายอันนี้อาจจะถือว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 7

นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปเมื่อแจ้งข้อกล่าวหาแล้วหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ก็ต้องสรุปสำนวนทำความเห็นในคดีซึ่งเราให้สิทธิ์ผู้ต้องหาที่จะอ้างพยานหลักฐานอะไรเข้ามาได้ เราให้สิทธิ์เต็มที่ เราไม่ได้ตัดสิทธิ์ การแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวยังไม่ได้หมายความว่าเราจะสรุปสำนวนสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเพียงแต่เป็นการเริ่มต้นของการสอบสวนที่เราเห็นว่า มีพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าน่าจะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งผู้ต้องหาเองก็มีสิทธิ์ที่จะโต้แย้งหรือว่านำพยานหลักฐานเข้ามา ให้เราสอบได้เรากำหนดเวลาไว้แล้วว่าจะต้องเสร็จภายใน 60 วันซึ่งคดีนี้ตั้งเเต่เริ่มเเรกทางพนักงานสอบสวนไม่มีการยื่นฝากขังผู้ต้องหาแต่อย่างใด ส่วนที่เเจ้งข้อหาเพิ่มตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯนี้ก็ไม่ต้องยื่นฝากขังถือว่าเป็นการแจ้งข้อหา ซึ่งผู้ต้องหาส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าราชการตำรวจอยู่แล้ว

“ผู้ต้องหาชุดนี้ข้อหาเดิมก็มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149, 157 แล้วก็มีพวกกักขังหน่วงเหนียวนั่นคือข้อหาเล็กๆ แล้วก็มีวันนี้ที่เเจ้งเพิ่มก็คือพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ” นายวัชรินทร์ระบุ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *