24 ตุลาคม 2024

‘ตรุษจีนปีมังกร’ คึกคัก ภาพสะท้อนเศรษฐกิจจีน

0

ตรุษจีน 2567 ที่ผ่านมา สำหรับเศรษฐกิจไทย กล่าวได้ว่ามีความคึกคักเพิ่มขึ้นกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19 ที่สร้างผลกระทบกับทุกประเทศทั่วโลก แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายความคึกคักจึงกลับคืนมา

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เผยผลสำรวจการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงตรุษจีน ที่เชื่อว่าจะคึกคักมากขึ้น โดยยอดเงินน่าจะสะพัดกว่า 49,558 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ถือว่าเป็นการเพิ่มสูงสุดในรอบ 11 ปีนับตั้งแต่ปี 2556

แม้ว่าอาจจะยังน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งเคยมีเงินสะพัดสูงกว่า 60,000 ล้านบาท แต่ยังเชื่อว่าโดยทิศทางต้องถือว่าสถานการณ์บวกน่าจะกลับคืนมาแล้ว  อีกทั้งเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และจะสดใสในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567

ที่สำคัญ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวประเทศไทย โดยเฉพาะคนจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาในช่วงเทศกาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์ประมาณ 800,000 คน ซึ่งจะมีผลต่อเงินสะพัดและการจับจ่ายใช้สอย และทำให้ปีนี้ตรุษจีนคึกคัก

สอดคล้องกับเทศกาลตรุษจีนในประเทศจีนเอง ในงานอวยพรตรุษจีนปีใหม่ปี 2024 กับทุกภาคส่วนของสังคม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้มีการสั่งการให้ “เพิ่มพลังเศรษฐกิจให้เข้มแข็งอย่างจริงจัง” และ “เสริมสร้างแนวโน้มเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้นและมีทิศทางการเติบโต”

โดยก่อนเทศกาลตรุษจีน นายสี จิ้นผิง เดินทางไปเยี่ยมข้าราชการและประชาชนระดับรากหญ้าที่นครเทียนจิน ได้กล่าวไว้ว่า “ช่วงตรุษจีน มีความเป็นไปได้ที่ทุกพื้นจะจัดงานวัฒนธรรมที่ประชาชนชื่นชอบมากขึ้น ทำให้เทศกาลมีความสิริมงคลและสนุกสนานมากขึ้น”

ทำให้เทศกาลตรุษจีนปีนี้ พบว่าในประเทศจีนมีงานวัฒนธรรมหลากหลายอย่างกว้างขวาง ประชาชนในทุกพื้นที่ฉลองตรุษจีนกันอย่างรื่นเริง ตลาดการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มีผู้คนล้นหลาม ทั้งในย่านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม   หมู่บ้านโบราณ แหล่งท่องเที่ยวระบบนิเวศ และแหล่งน้ำแข็งหิมะ

ทั้งนี้สื่อจีนรายงานว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้  กรุงปักกิ่งได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองที่หลากหลาย  โดยชูประเด็นว่า “กรุงปักกิ่งเปี่ยมไปด้วยความสุข ทั่วประเทศต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ” โดยเทศบาลกรุงปักกิ่งได้จัดการแสดงประเภทต่าง ๆ เกือบ 2,000 รายการในพิพิธภัณฑ์นับร้อยแห่ง โรงละครมากกว่า 150 แห่ง และร้านหนังสือมากกว่า 500 แห่ง  นอกจากนี้  เทศบาลกรุงปักกิ่งยังได้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมเกือบ 10,000 รอบ  ในการเสริมบรรยากาศการฉลองปีใหม่ให้เข้มข้นยิ่ง

และจากสถิติพบว่า  ช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 10 ล้านคน ได้ไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวสําคัญของกรุงปักกิ่งมาแล้ว

อีกทั้งในประเทศต่างๆทั่วโลกก็มีการจัดงานฉลองเทศกาลตรุษจีนกันอย่างคึกคักในหลายประเทศ ทั้งเพื่อบรรยากาศการเฉลิมฉลองตามประเพณีวัฒนธรรมจีนของชาวจีนที่ไปอยู่ในประเทศต่างๆ และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภายในแต่ละประเทศเองด้วย เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ก็มีงานเทศกาลตรุษจีนคึกคักและยิ่งใหญ่ในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด

สามารถที่จะกล่าวได้ว่า เมื่อทิศทางของเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 ที่คลี่คลายลงเรื่อยๆ เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้เริ่มฟื้นตัวกลับคืนมาด้วยเช่นกัน และเทศกาลตรุษจีน ถือเป็นการเริ่มต้นการพลิกฟื้นของเศรษฐกิจในช่วงเริ่มต้นของปี 2567

จากความคึกคักของเทศกาลตรุษจีนทั้งในจีน และในประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ทำให้การคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2567 ยังคงเป็นปัจจัยที่ได้รับการประเมินจากประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจและการเงินของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ระบุว่า เศรษฐกิจจีนจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในปี 2567 เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจ ซึ่งจะทำให้จีนมีโอกาสเติบโตมากกว่าที่จะเผชิญอุปสรรคในปี 2567

ในการประชุมกรอบการทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนเมื่อวันที่ 11-12 ธ.ค. ซึ่งผู้นำระดับสูงของจีนร่วมกันกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2567 นั้น ระบุว่า “ตัวเลขเงินเฟ้อที่เกิดจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคของจีนอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นไม่สูงนัก และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจก็เอื้อต่อการดำเนินนโยบายด้านการเงินและการคลังที่แข็งแกร่ง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม วัฏจักรทางเศรษฐกิจของจีนอาจยังต้องเผชิญอุปรรคอยู่บ้าง เนื่องจากอุปสงค์ การอุปโภคบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ ดังนั้น จีนจึงได้ตั้งเป้าที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่คาดหวังการฟื้นตัวหลังยุคโควิด-19 ไปเป็นการเติบโตด้วยการอุปโภคบริโภคที่ยั่งยืน”

ขณะที่ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ว่า ตัวเลข GDP ปี 2566 ของจีน ขยายตัว 5.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ระดับ 5%

ขณะที่ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า หน้าตาของเศรษฐกิจจีนกำลังเปลี่ยนไป ในอดีตการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการลงทุนเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ที่ช่วยสนับสนุนให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2000-2019 สูงถึง 9% ต่อปี ผลักดันให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนจะไม่สามารถพึ่งพาปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดิมได้เพราะปัจจัยท้าทายต่าง ๆ ดังนั้นจะต้องปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งใหม่เพื่อสร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่รับมือความท้าทายได้ โดยวิเคราะห์ว่า รัฐบาลจีนจะหันมาสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง หรือ Three new” เพื่อทดแทนการลงทุนในภาคอสังหาฯ

National Bureau of Statistics of China ได้ให้นิยามว่า Three new ประกอบไปด้วย 1) New industries อุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ 2) New business formats รูปแบบการทำธุรกิจใหม่ที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อผลิตสินค้าหรือให้บริการที่หลากหลายและตรงลักษณะลูกค้า (Personalized) และ 3) New business models รูปแบบโมเดลธุรกิจที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดำเนินธุรกิจเพิ่มมูลค่าและกำไร โดยอุตสาหกรรม “Three new” ขยายตัว 6.5%YOY ในปี 2022 (ยังไม่ได้ปรับผลของราคา : Current price) สูงกว่าอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ที่ 5.3%YOY

3 อุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาลจีนและหลายสำนักข่าวยกให้เป็นพลังสำคัญของ Three new ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicles : NEV เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด) แบตเตอรี่ลิเธียม และพลังงานสะอาด

ทิศทางของเศรษฐกิจจีน ที่เริ่มต้นปีด้วยความคึกคักกลับมาของเทศกาลตรุษจีนปีมังกร จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง

โดย นายภูวนารถ ณ สงขลา
ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวบางกอกทูเดย์ และ สำนักข่าว Bangkok Wealth & Biz

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *