24 ตุลาคม 2024

‘ธรรมนัส’ ควง ‘อนุชา’ ลงพื้นที่ชัยนาท หนุนสร้างอาคารบังคับน้ำแก้ภัยแล้ง

0

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อม นายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรฯลงพื้นที่รับฟังปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จ.ชัยนาท ที่ประสบปัญหาแหล่งน้ำในพื้นที่เพาะปลูกข้าวไม่เพียงพอ ที่หนองชะโด ต.สรรพยา อ.สรรพยา พร้อมพบกับผู้นำท้องถิ่น และเกษตรกรชาวนา

ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ปัญหาของเกษตรกรผู้ทํานาในพื้นที่ ต.ห้วยกรด, ห้วยกรดพัฒนา ต.เที่ยงแท้ อ.สรรคบุรี และ ต.บางหลวง, สรรพยา, ตลุก อ.สรรพยา ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง ต้องอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ บ่อบาดาล ขณะที่ช่วงฤดูน้ำหลาก มีการระบายน้ำในที่ลุ่มต่ำ ทําให้ดึงน้ำในที่ดอนไป จึงเกิดปัญหาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่

โดยกรมชลประทาน เร่งดำเนินการก่อสร้าง 3 จุด งบประมาณ 40 ล้านบาท โดยใช้งบเหลือจ่าย ปี 2567 ในการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำกลางคลองระบาย (คลองทิ้งน้ำหนองชะโด) งบประมาณ 20 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 4,000 ไร่, ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำคลองระบาย (หนองน้ำร้อน) วงเงินงบประมาณ 10 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 3,800 ไร่ 200 ครัวเรือน, ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำคลองระบาย (คลองทิ้งน้ำทุ่งหนองบัว) วงเงินงบประมาณ 10 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 4,800 ไร่ 250 ครัวเรือน

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า สำหรับโครงการอื่น ที่กลุ่มเกษตรกรนำเสนอ เช่น ขุดลอกคลองท่าหมาดอนงู การจัดทําโครงการบ่อบาดาลโซลาร์เซลล์ เพื่อเติมน้ำในสระไว้ใช้ในฤดูแล้ง การขุดลอกคลองลําน้ำบ้านหนองนั้น ได้มอบหมายให้กรมชลประทานลงพื้นที่สำรวจความพร้อมร่วมกับผู้นำท้องถิ่น และให้เร่งนำเข้าแผนของบประมาณปี 2568 ต่อไป โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งชาวนาผู้ปลูกข้าว จ.ชัยนาท ประสบทุกปี

“ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา เป็นหัวใจสําคัญของโครงการชลประทานพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อการเพาะปลูกสําหรับพื้นที่ราบภาคกลาง จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาเร่งด่วน เพื่อให้ชาวนาได้มีน้ำใช้เพื่อการทำเกษตร อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับพี่น้องเกษตรกร เช่น นโยบายลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ และนโยบายปุ๋ยคนละครึ่ง ที่กำลังจะดำเนินการ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร”

ด้านนายอนุชา กล่าวว่า โครงการต่างๆ ที่กลุ่มเกษตรกรได้นำเสนอ ทำให้เกษตรกรทำนาในพื้นที่อำเภอสรรคบุรี และอำเภอสรรพยา พื้นที่กว่า 10,000 ไร่ มีน้ำทำการเกษตรอย่างทั่วถึงและเพียงพอ เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร เกษตรกรมีต้นทุนการทำนาลดลง มีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนทำให้เกษตรกรสามารถพัฒนาต่อยอดจากแหล่งน้ำเป็นการท่องเที่ยวทำให้มีรายได้เพิ่มนอกจากการทำนาได้อีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *