24 ตุลาคม 2024

จีนมุ่งพัฒนา ‘ของดีท้องถิ่น’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-เพิ่มรายได้ชนบท

0

แฟ้มภาพซินหัว : ชาวบ้านเก็บเกี่ยวสตรอเบอร์รี่ เมืองไท่อัน มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน วันที่ 2 มี.ค. 2023

ปักกิ่ง, (ซินหัว) — ความต้องการเห็ดหูหนูดำจากมณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ความนิยมของสตรอเบอร์รี่จากมณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ยอดขายปูน้ำจืดจากมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีนที่ล้วนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องนั้น ไม่เพียงแต่เป็นปรากฏการณ์การบริโภคแนวใหม่แต่ยังเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมและเพิ่มรายได้ในชนบท

เอกสารส่วนกลางหมายเลข 1 (No. 1 Central Document) ซึ่งเป็นแถลงการณ์เชิงนโยบายที่เผยแพร่โดยหน่วยงานรัฐบาลกลางของจีนในปี 2024 ระบุว่า จีนได้จัดทำแผนงานในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในชนบท โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการในอุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิในพื้นที่ชนบท เน้นเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงเสริมสร้างการพัฒนาคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในชนบท

ตำบลหวังชิงในมณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มีคุณภาพน้ำที่โดดเด่นและอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหูหนูดำ ไม่กี่ปีที่ผ่านมาจึงมีการจัดตั้งพื้นที่เศรษฐกิจเห็ดหูหนูดำขึ้น ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ สร้างมาตรฐาน และพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง

ตำบลหวังชิงใช้เครื่องจักรอัตโนมัติจัดการกระบวนการผลิตหลักๆ อาทิ การบรรจุถุง การฆ่าเชื้อ และการทำความเย็น ทำให้เห็ดถูกบรรจุอย่างประณีตและมีคุณภาพ ข้อมูลรายงานว่าบริษัทผู้ผลิตเห็ดหูหนูดำสามารถผลิตสินค้าได้มากถึง 28 ล้านถุงในปี 2023 โดยมีผลประกอบการ 116.4 ล้านหยวน (ราว 577 ล้านหยวน) โดยเห็ดหูหนูดำแปรรูปจะถูกส่งไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารรายใหญ่

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีนชี้ให้เห็นว่า ในปี 2023 จีนมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทางการเกษตรที่มีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านหยวนต่อปี (enterprises above designated size) มากกว่า 90,000 แห่ง และมีนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่แห่งชาติจำนวน 50 แห่ง รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขันเฉพาะด้าน (specialized competitive industrial clusters) จำนวน 40 แห่ง และตำบลการเกษตรที่มีศักยภาพในการแข่งขัน 200 แห่ง

ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเมืองเมืองหู่หลิน เมืองระดับอำเภอในมณฑลเฮยหลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้ร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งเฮยหลงเจียง และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทีมอลล์ (Tmall) ในโครงการปลูกข้าว ครอบคลุมพื้นที่ 100,000 หมู่ (ราว 46,666 ไร่) โดยตั้งเป้าบ่มเพาะพันธุ์ข้าวเกรดพรีเมี่ยม และส่งเสริมความคิดริเริ่มในการปลูกข้าวแบบรวมกลุ่ม

ความร่วมมือดังกล่าวมุ่งใช้แบบจำลองการพัฒนาเชิงบูรณาการที่ผสานทั้ง การปลูกแบบรวมกลุ่ม การสร้างแบรนด์ และการประกันยอดขาย เพื่อเชื่อมโยงการผลิต การแปรรูป และการตลาดเข้าด้วยกันอย่างราบรื่น ผ่านแพลตฟอร์มของทีมอลล์และข้อได้เปรียบของแบรนด์ที่มีชื่อเสียง อาทิ แบรนด์ผลิตภัณฑ์นม ไบร์ท แดรี่ (Bright Dairy) รวมถึงแบรนด์ธัญพืชและน้ำมัน โกลเดน คาร์ป (Golden Carp) และฟอร์จูน (Fortune) ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้และสร้างแรงจูงใจในการปลูกข้าวของชาวบ้านในชนบท

ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมตั้งข้อสังเกตว่า แม้ภูมิภาคต่างๆ จะมีรากฐานที่ดีสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในชนบท แต่ความท้าทายที่สำคัญก็ยังคงมีอยู่ อาทิ ห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สั้น และผลิตภัณฑ์ที่ยังมีคุณสมบัติซ้ำๆ กัน

เอกสารฯ เรียกร้องให้พัฒนาอุตสาหกรรมที่โดดเด่น โดยอาศัยข้อได้เปรียบในท้องถิ่น และสนับสนุนการสร้างแบรนด์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละชนบท รวมถึงส่งเสริมกิจการอีคอมเมิร์ซระดับอำเภอ สร้างฐานไลฟ์สตรีมมิ่ง และขยายช่องทางการขายออนไลน์สำหรับผลิตภัณฑ์พิเศษจากชนบท

เรียบเรียงโดย Niu Huizhe, Xinhua Silk Road, https://www.xinhuathai.com/silkroad/424114_20240313 , https://en.imsilkroad.com/p/339099.html

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *