23 ตุลาคม 2024

ธปท.ระบุ ลดดอกเบี้ย 1% ช่วยประชาชนได้แค่สั้นๆ แต่เพิ่มหนี้ระยะยาว ห่วงดันหนี้พุ่ง

0

วันที่ 24 เมษายน 2567 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวใน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 1/2024 ว่า การดำเนินนโยบายทางการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ซึ่ง กนง.พร้อมจะปรับดอกเบี้ยถ้าข้อมูลเศรษฐกิจที่เข้ามาใหม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะไม่ได้มีอะไรบ่งบอกว่าจะต้องยึดติดในระดับนี้ไปตลอด แต่ขึ้นอยู่ต้องพิจารณาและแยกแยะตามจังหวะที่เข้ามาว่ามีผลกระทบที่ยั่งยืนขนาดไหน นัยต่อนโยบายมากพอหรือไม่

“พูดในภาพรวมที่คุยกันในสเกลบวกหรือลบ 0.25% หรือ 0.50% มันไม่ได้ต่างกันมากในภาพใหญ่ ซึ่งเป็นดีกรีที่ไม่ได้เยอะ และไม่ได้คิดถึงว่าจะลดดอกเบี้ยเยอะๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมในตอนนี้ เนื่องจากยังมีเวลาพิจารณาให้มั่นใจ เพื่อดูความไม่แน่นอนเยอะๆ เพราะยังมีปัจจัยทั้งความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำ”นายปิติ กล่าว

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า บทบาทของนโยบายการเงินในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% หากจำลองให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง 1% พบว่าช่วงแรกการตอบสนองของภาระดอกเบี้ยจ่ายของประชาชนลดลง แต่ระยะถัดไปจะเห็นว่าภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น เนื่องจากเมื่อมีการลดดอกเบี้ยในช่วงแรกแล้วการก่อหนี้ใหม่ของประชาชนจะเกิดขึ้นตามมา

นายสุรัช กล่าวว่า ดังนั้น หลังจากที่ได้รวมภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงระยะสั้นแต่เพิ่มขึ้นในระยะยาว และหลังจากรวมการก่อหนี้ที่จะสูงขึ้นในระยะสั้น ซึ่งผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีสัดส่วนสูงขึ้น ขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ถ้ามีการก่อหนี้มากขึ้น แม้จะได้ผลดีระยะสั้นต่อเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาวก็มีต้นทุนที่จะต้องจ่าย

“การดำเนินนโยบายการเงิน โดยสาระสำคัญดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันนอกจากจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจการเงินระยะยาวแล้ว อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสามารถรองรับความเสี่ยงต่างๆ ในระยะข้างหน้าได้ ทั้งความเสี่ยงด้านบวกและความเสี่ยงด้านลบ”นายสุรัช กล่าว

นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยคาดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 2.6% ซึ่งปัจจัยหนุนมาจากการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.5% การลงทุนถาคเอกชน 3.3% การอุปโภคภาครัฐบาล 1.8% การลงทุนภาครัฐบาล 1% ขณะที่การส่งออก อยู่ที่ 2% และการท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 35.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ 28.2 ล้านคน รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐเริ่มกลับมา หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ผ่านเรียบร้อยแล้ว

“การใช้จ่ายภาครัฐลดลงมากในไตรมาส 1/2567 จากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณล่าช้า แต่คาดว่าจะกลับมาเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี ภายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 มีผลบังคับใช้เมื่อช่วงเมษายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะเห็นการเร่งเบิกจ่ายลงทุนของรัฐบาลตามความพร้อมของหน่วยงานรัฐที่มีการจัดเตรียมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตามมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่าย ส่วนภาคเอกชนมีความกังวลถึงข้อจำกัดในการเร่งเบิกจ่ายของหน่วยงานรัฐ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย”นางปราณี กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *