24 ตุลาคม 2024

บทบาท ‘จีน’ ในการส่งเสริมการค้าโลก ตามแนวทาง WTO

0

องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1995 แต่ระบบการค้าขายโลกได้เริ่มต้นขึ้นก่อนหน้าแล้วตั้งแต่ปี 1948  โดยความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade : GATT) ได้กำหนดกฎเกณฑ์ระบบการค้าในช่วงดังกล่าว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ได้มีการพัฒนาผ่านการเจรจารอบต่าง ๆ โดยรอบเจรจาแกตต์ครั้งสุดท้ายและเป็นรอบที่ใหญ่ที่สุด คือการเจรจาการค้าพหุภาคี (Multilateral Trade Negotiation) รอบอุรุกวัย (Uruguay Round) ซึ่งใช้เวลาถึง 8 ปี ตั้งแต่ปี 1986 ถึง 1994 จนได้นำมาสู่การจัดตั้ง WTO ขึ้น โดยก่อนจัดตั้งองค์การการค้าโลกขึ้นมาได้นี้ บรรดาประเทศสมาชิกทั้งปวงในโลกต่างประชุมเจรจาเรื่องนี้อยู่หลายปี ในที่สุดจึงสามารถทำความตกลงกันได้และลงนามในความตกลงกันเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2537 เรียกว่าความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

และนับตั้งแต่นั้นมา องค์การการค้าโลกมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการลดอุปสรรคและก่อให้เกิดความยุติธรรมทางการค้า และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสำหรับสมาชิกทุกประเทศ  มาถึงปัจจุบัน ซึ่งวันนี้ครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้ง WTO

โดยข้อมูล ณ ปัจจุบัน WTO มีสมาชิก 164 สมาชิก (160 รัฐสมาชิกสหประชาชาติ, สหภาพยุโรป, ฮ่องกง, มาเก๊า และไต้หวัน)

หน้าที่สำคัญของ WTO ประกอบด้วย การเป็นเวทีสำหรับการเจรจาการค้า ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้า บริการ และทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้กำหนดหลักการการเปิดเสรี ข้อยกเว้นต่างๆ ตลอดจนข้อผูกพันของสมาชิกในการลดภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ และการเปิดตลาดการค้าบริการ โดยความตกลงเหล่านี้จะมีการเจรจาปรับปรุงเป็นครั้งคราว รวมทั้งยังสามารถจัดความตกลงใหม่ๆ เพิ่มเติมได้อีกด้วย

ความตกลงของ WTO กำหนดให้สมาชิกต้องมีความโปร่งใส ยุติธรรม เกี่ยวกับนโยบายทางการค้า ขณะที่ WTO จะมีบทบาทในการระงับข้อขัดแย้งทางการค้าตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Understanding) เพื่อให้การค้าโลกเป็นไปอย่างราบรื่น

นอกจากนี้ WTO ยังมีบทบาทในเชิงสร้างสรรผลักดันการค้าโลก คือเรื่องของการเสริมสร้างศักยภาพทางการค้า เพิ่มโอกาสทางการค้า การสร้างความสามารถทางการค้า  และการสนับสนุนที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในด้านการค้า การจัดการกับกรณีพิพาท และการบังคับใช้

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการ WTO  มองว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว เศรษฐกิจโลก และการค้าโลกจะเปลี่ยนไป ทาง WTO จึงต้องหาแนวทางทำให้บทบาทด้านการค้าและการพัฒนามีมากขึ้น ทั้งการพัฒนาด้านการลงทุน ด้านสังคม ต้องส่งเสริมแนวทางปฏิบัติ หรือข้อตกลงที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาต่อโลก และประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น

นอกจากนี้ นายศุภชัย มองว่า สิ่งที่ WTO ควรดำเนินการคือ เปิดโอกาสให้มีการค้าเสรีมากขึ้น ทั้งด้านสินค้าอาหาร และสินค้าเกษตร ส่วนเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ควรให้ความคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงเรื่องการเก็บภาษีให้เสมอภาค

และแน่นอนว่า ณ ปัจจุบัน ประเทศจีน ถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ทำให้จีนเป็นหนึ่งประเทศหลักที่ได้รับความสนใจสำหรับบทบาทใน WTO เป็นอย่างยิ่ง

จีนได้ใช้ความพยายามในการเจรจาเพื่อที่จะเข้ามาเป็นประเทศสมาชิก WTO เป็นระยะเวลานานถึง 15 ปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2544 จีนจึงได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิก ซึ่งขณะนั้นมี 138 ประเทศ โดยมติเป็นเอกฉันท์ให้จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO อันดับที่ 146

ทั้งนี้ จีนได้ยอมรับในเงื่อนไขการเปิดเสรีการค้า และการปรับเปลี่ยนระเบียบและกฏเกณฑ์ให้มีความสอดคล้องกับกฏกติกาสากลของ WTO ซึ่งแม้แต่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ที่ได้มีการประเมินหลังการเข้าเป็นสมาชิก WTO จีนได้ปฏิบัติตามพันธะผูกพันหลายข้อที่ให้ไว้อย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย นโยบายภายในที่มีผลต่อการค้า ได้แก่ นโยบายภาษี (Taxation) การอุดหนุน(Subsidy) กฏระเบียบเรื่องการนำเข้า เรื่องการลดหย่อนการควบคุมธุรกิจภาคบริการ เรื่องการลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และเสริมสร้างมาตรการต่อต้านการทุจริต เป็นต้น ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของจีนในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO และการยอมรับกรอบกติกากฏเกณฑ์ต่างๆของ WTO

ผลจากการเปิดประเทศ การปรับเปลี่ยน และการพัฒนาได้ทำให้ จีนได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การเป็นสมาชิก WTO ของจีน ได้ช่วยสร้างงานนับล้านทั่วโลก และลดความยากจนในประเทศกำลังพัฒนาได้ด้วย

จะเห็นได้จากในการประชุมสุดยอดองค์การการค้าโลก (WTO summit) ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อปี 2560 นายจง ซาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ของจีนในขณะนั้น ได้ยืนยันว่า จีนจะส่งเสริมการค้าพหุภาคี และอุดมการณ์การค้าเสรี พร้อมทั้งเรียกร้องว่า การขจัดปัญหาความยากจนเป็นภารกิจร่วมกันของมนุษยชาติ ซึ่งสมาชิกองค์การการค้าโลกทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (2030 Agenda for Sustainable Development)

รวมทั้ง เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2564 นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ครั้งที่ 4 โดยให้คำมั่นว่าจะ เดินหน้าเปิดกว้างตลาดจีน และการปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างจริงจัง

“เราต้องส่งเสริมแนวโน้มโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า สนับสนุนนานาประเทศในการเปิดกว้าง รวมถึงปฏิเสธลัทธิเอกภาคีนิยมและลัทธิกีดกันทางการค้า สิ่งนี้มีความสลักสำคัญอย่างมากหากเราต้องการนำพามวลมนุษยชาติไปสู่อนาคตที่ดีกว่า”

โดยนายสี เน้นย้ำว่า “การเปิดกว้างคือเครื่องหมายของจีนร่วมสมัย”

นายสี ยังกล่าวด้วยว่า จีนจะยึดมั่นในระบอบการค้าพหุภาคี ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการกำหนดข้อบังคับระหว่างประเทศ รวมถึงปกป้องเสถียรภาพของอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก อันเป็นหนึ่งในความพยายามของจีนในการปกป้องระบบพหุภาคีที่แท้จริง

“จีนจะธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันของโลกอย่างจริงจัง” นายสี ระบุ พร้อมให้คำมั่นว่าจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระดับโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปกป้องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และส่งมอบความช่วยเหลือให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆอย่างแข็งขัน

“จีนได้ปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างครอบคลุม พัฒนาการและความก้าวหน้าของจีนตั้งแต่ร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เป็นผลลัพธ์จากการทำงานหนัก และการยืนหยัดของชาวจีน” นายสี กล่าวยืนยัน

ดังนั้น บทบาทของจีน ในการแบ่งปันความรุ่งเรืองร่วมกันสู่นานาชาติ การยึดมั่นต่อหลักการค้าที่ ‘โปร่งใส-เป็นธรรม’ ทั้งในฐานะประเทศสมาชิก WTO และในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในระดับแถวหน้าของโลกปัจจุบัน จึงถือเป็นบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโลกยังคงมีความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์อยู่ในหลายจุด โดย นายอึงโกซี อะคอนโจ-อิเวลลา ผู้อำนวยการ WTO กล่าวว่า ภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัวลงนับเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะกำลังบ่งชี้ถึงคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลกที่ย่ำแย่ลง และสถานการณ์อาจรุนแรงขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ ที่จะส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตในโลกแยกออกจากกัน และมีการกีดกันทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ นานาประเทศ ได้ฝากความหวังไว้กับจีน ในอันที่จะแสดงบทบาทการไกล่เกลี่ย ประสานสันติภาพเพื่อยุติปัญหาความตึงเครียดของโลกลงด้วย

โดย นายภูวนารถ ณ สงขลา

ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว Bangkok Wealth & Biz และ สำนักข่าว บางกอกทูเดย์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *