24 ตุลาคม 2024

ดร.สุชาติ แนะ! ดันเศรษฐกิจ​เติบโต​ 5-6% รัฐบาลต้องตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ​ 3-4%

0

เสนอให้ใช้การเพิ่มปร​ิมาณเงิน การลดดอกเบี้ย​ ทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้นและทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงแข่งขันได้ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกการท่องเที่ยว​ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ​ เพิ่มขึ้น

ศาสตราจารย์​ ดร.สุชาติ​ ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีตรัฐมนตรี​ว่าการกระท​รวงการคลัง​ และผู้​เชี่ยวชาญ​ Macro-econometric​s​ ได้ให้คำแนะนำว่า​ หากรัฐบาลต้องการให้​ระบบเศรษฐกิจ​ไทย​เติบโตสูงขึ้น​ มี​ความสามารถในการผลิต​ (Potential GDP) เป็น​ 5-6% นั้น การดูแลในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ​ และอัตราแลกเปลี่ยน​ นับเป็นตัวแปรที่สำคัญ

ดร.สุชาติ ชี้ว่า อัตรา​แลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด​ หากเทียบ​ 10 ปีที่ผ่านมา​ ขณะนี้ค่าเงินบาท​แข็งกว่าเกือบทุกประเทศในโลก​ เช่น​ แข็งกว่า​สหรัฐ15%, ญี่ปุ่น​45%, เวียดนาม​44%, มาเลเซีย​25%, อินเดีย60% และแข็งกว่าจีน, เกาหลี, อินโดนีเซีย​ และประเทศอื่นๆ​ ซึ่งทำให้​การส่งออกไม่เติบโต,​ การลงทุนจากต่างประเทศ​(FDI)​ จึงได้เลือกที่จะไปที่อื่น​เพราะ​ว่าสามารถซื้อค่าแรงงาน ค่าไฟ​ฟ้า ได้ถูกกว่า

ดร.สุชาติ กล่าวว่า กรณีค่าเงินบาทแข็งเกินไป​ เพราะปริมาณเงิน​ (M2)​เพิ่มน้อยไป เนื่องจากดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อ)​ ของทางการสูงไป​ในตลอด​ 10 ปีทึ่ผ่านมา​ ทำให้เงินเฟ้อต่ำไป​ ค่าเงินแข็งไป​ ทำให้รายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวต่ำไป มีผลให้ความเจริญ​เติบโตของ GDP​ ต่ำ​ ซึ่งไปลด​กำลังการผลิต​(Capacity utilization rate) และลด​ความสามารถในการผลิต​ (Potential GDP) ให้อยู่ในระดับต่ำ​เพียง 2-3%

“ผู้ว่าแบงก์ชาติ​ต้องการให้รัฐบาลไปเพิ่ม​ Potential GDP โดยตรงเลย​ โดยให้รัฐบาลเพิ่ม​โครงสร้างบริการพื้นฐาน (Infrastructure) ให้เอกชนเพิ่มการลงทุน​ใช้เทคโนโลยี่​ใหม่​ ซึ่งต้องใช้เวลาและไม่ง่าย เพราะเครื่องมือเครื่องจักรเกือบทั้งประเทศ​ ยังใช้ไม่เต็มที่เลย​ ยังไม่มีเงินกำไรมากพอ​ซื้อ​เทคโนโลยี​ใหม่”

ดร.สุชาติ ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องการเพิ่ม​ความเจริญ​เติบโตของ GDP ด้วยการเพิ่มเงินใหม่​ โดยโครงการ Digital wallet 500,000 ล้านบาท​ นอกจากจะติดขัดด้านกฎหมายแล้ว​ หากแบงก์ชาติ​ไม่ยอมให้ปริมาณเงิน​ (M2)​ เพิ่ม​ขึ้นในระบบเศรษฐกิจ​ ก็เท่ากับว่า​ รัฐบาลไปกู้หรือไปเก็บภาษี​มามากขึ้น​ ในขณะที่​ M2​ มีเท่าเดิม ซึ่งจะทำให้ปริมาณเงินที่เอกชนและประชาชนใช้อยู่​ลดน้อยลง​ จึงอาจเกิด​ปัญหา​การแย่งเงินกัน​ (Clouding out effect) ซึ่งจะทำให้​ความเจริญเติบโต​ของ GDP แทบไม่เพิ่มขึ้น​ โดยยังมีข้อดีคือ​ เกิดการกระจายรายได้ดีขึ้น ดังนั้น จึงขอเสนอให้​กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ​ปรับกรอบเงินเฟ้อจาก​ 1-3% ในปัจจุ​บัน​ เป็น​ 3-4​% และให้แบงก์ชาติ​รับผิดชอบ​(Accountable) โดยดูค่าเฉลี่ยในช่วง​ 3 เดือนล่าสุด​

“หากตกลงกันเช่นนี้​แล้ว แบงก์ชาติ​ก็ต้องไปเพิ่ม​ปริมาณเงิน (QE)​, และไปลดดอกเบี้ยทางการ​ เพื่อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ​ 3-4% ค่าเงินบาทก็จะอ่อนลงแข่งขันได้ดีขึ้น, การส่งออกและท่องเที่ยว,​ การลงทุน และ​ FDI ก็จะเพิ่มขึ้น​ ซึ่งไปเพิ่ม​ GDP​ growth​ มีผลให้​การใช้กำลังการผลิต (Capacity utilization) เพิ่มขึ้น​ มีการซื้อเครื่อง​มือเครื่องจักร​เทคโนโลยี​ใหม่ ซึ่งจะไปเพิ่ม​ความสามารถ​ในการผลิต (Potential GDP) ให้สูงขึ้นในระยะยาว ซึ่งความจริงประเทศกำลังพัฒนา​ ควรมีเงินเฟ้อ​ 3% กว่าๆ​ เพื่อให้​ไปเพิ่ม​อัตรา​ความเจริญเติบโต​ของ GDP, เพิ่มการจ้างงาน​ และเพิ่มค่าแรงงาน ประเทศใน​ ASEAN​ ส่วนใหญ่เงินเฟ้อเกิน​ 3%”ดร.สุชาติ​ กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *