24 ตุลาคม 2024

ศาลรับฟ้องทักษิณ คดี 112-พ.ร.บ.คอมพ์แล้ว รอการประกันตัว

0

กรณี สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แถลงความเห็นสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในความผิดตามมาตรา 112 นั้น เมื่อเวลา 09.02 น. วันที่ 18 มิถุนายน นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวการส่งตัวฟ้องนายทักษิณว่า ตามที่งานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ว่า นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 นั้น

นายประยุทธ กล่าวว่า เมื่อเวลา 08.56 น. นายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจาก อสส.ให้เป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ ได้ส่งฟ้องนายทักษิณต่อศาลอาญา ตามข้อกล่าวหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ ม.112 เรียบร้อยแล้ว ศาลอาญาประทับรับฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำ อ.1860/2567 บัดนี้คดีนี้ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลอาญาแล้ว หากมีความคืบหน้าประการใด อสส.จะแจ้งให้ทราบต่อไป

นายประยุทธ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เมื่อศาลประทับรับฟ้อง ออกเป็นหมายเลขดำแล้ว หมายความว่า ณ เวลาที่อัยการยื่นคำฟ้องต่อศาลเป็นการฟ้องส่งตัว ที่มีตัวผู้ต้องหาส่งให้ศาล และมารายงานตัว และส่งตัวพร้อมกับฟ้องไปยังศาลอาญาเรียบร้อยแล้ว

สำหรับเรื่องการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า เมื่อบุคคลใดก็ตามถูกกล่าวหาในคดีอาญา ในชั้นสอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ หรือในชั้นการพิจารณาของศาล รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเขาผิด ดังนั้น กระบวนการปล่อยชั่วคราวจึงเป็นกระบวนการรองรับบทสันนิษฐานตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ให้เขาสู้คดีเต็มที่ การปล่อยชั่วคราวจึงเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของกฎหมาย ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้บริบทว่าไม่ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่หนี ดังนั้น เมื่อถามว่าแล้วรายอื่นๆ เป็นอย่างไร ดูเรื่องต่อรื่อง หมายความว่า ถ้ารายไหนได้รับการปล่อยชั่วคราวจะเป็นแบบนี้เสมอ หากรายไหนไม่ได้การปล่อยชั่วคราว อาจไม่มีหลักประกันจากชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล จึงถูกควบคุมตัวไว้ภายใต้เงื่อนไขของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.87

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *