24 ตุลาคม 2024

‘ศิริกัญญา’ ชี้กลไกศาลปกครองเป็นทางเลือกสุดท้าย หากรัฐบาลยังดัน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’

0

ชี้ งบ 67 วงเงินทำนโยบายเรือธง ไม่ได้ทำสัญญาผูกพัน หวั่นให้ประชาชนลงทะเบียนแล้วนับเป็นสัญญาจะกลายเป็นบรรทัดฐาน ไม่เข้าใจ ทำไมรัฐบาลยอมเสี่ยงขนาดนี้

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการกรรมกรข่าว คุยนอกจอ ถึงการไม่รับตำแหน่งในกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ว่า กลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว ครั้งแรกที่ก้าวไกลไม่รับตำแหน่งเพราะกินเวลานานมาก เพียงเพื่อจัดลำดับตำแหน่งให้ทุกคนลงตัวตามที่ทุกคนอยากได้ อย่างรองประธานก็มี 10 กว่าคน โฆษกอีก 5-6 คน ซึ่งมันวุ่นวาย จึงตัดปัญหาตรงที่ว่าคุณไปใช้เวลาของคุณให้เต็มที่ แต่พรรคก้าวไกลก็จะไม่รับตำแหน่ง

“อันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายปีมาแล้ว และเราก็เลยพบว่าการเป็นแค่กรรมาธิการไม่ได้ขัดขวางกระบวนการทำงานในห้องงบประมาณแต่อย่างใด จึงยึดเป็นธรรมเนียมของพรรคก้าวไกล”

ส่วนกรณีให้สัมภาษณ์ว่าถ้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตผ่านวาระสาม จะไปยื่นศาล นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า วันนั้นตนไม่ได้พลาด แต่อาจจะพูดสั้นไปสักหน่อย ตอนอภิปรายงบประมาณก็มีพูดถึงเรื่องที่รัฐบาลสุ่มเสี่ยงที่จะผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตราต่างๆ หลังจากนั้นก็มีการเตือนข้าราชการประจำด้วยว่าถ้ากำลังทำอะไรผิดให้ส่งหนังสือท้วงติงเป็นลายลักษณ์อักษรมาถึงผู้บังคับบัญชา หลังจากนั้นก็วนอยู่ในหัวตลอดเวลาว่าถ้าจะทำต่อจริงๆ จะมีกลไกใดได้บ้าง หลังจากที่เราพยายามในสภาเสร็จสิ้นแล้ว กลไกของศาลอาจจะเป็นตัวเลือกหลังสุดที่เราจะเลือกที่จะทำ อย่างไรเราก็ต้องสู้สภาให้จบสิ้นก่อน โดยเท่าที่ไปศึกษาก็มีช่องทางที่จะไปที่ศาลปกครองได้ แต่ก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยในพรรคให้ตกผลึก

“มีช่องทางที่ไปได้จริงๆ แต่ต้องมีความผิดที่สำเร็จแล้ว ดังนั้น จึงต้องมีการออกกฎระเบียบหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ผ่านทั้งสามวาระแล้ว ดังนั้น ยังสุกดิบอยู่ เดี๋ยวต้องรอกระบวนการที่มันแล้วเสร็จก่อนถึงจะดำเนินการต่อได้ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะไปที่ศาลปกครองหรือไม่”

ส่วนหลักการยังเหมือนเดิมหรือไม่ ที่อำนาจออกกฏหมายอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ควรให้องค์กรอิสระ อย่างศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาแทรกแซง นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า เหมือนเดิม ถ้าเป็นเรื่องนโยบาย เราจะไม่เข้าไปขัดขวาง โดยใช้กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน และแม้แต่ศาลปกครองถ้าเป็นเรื่องนโยบายเราก็ไม่ทำ เพียงแต่ว่ากระบวนการบางกระบวนการ ที่มันอาจจะผิด เราก็อาจจะต้องพิจารณาว่าจะต้องมีช่องทางไหนบ้าง มีกลไกไหนบ้างที่จะไป

กรณีหากกระบวนการผิด ก็ยังร้องศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า เราก็กังวลเรื่องที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือความผิดที่ไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรงที่ส่งผลกระทบขนาดนั้น เราต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่ว่าเราไม่เคยใช้ช่องทางศาลรัฐธรรมนูญ อย่างคดีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็เป็นการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เราด้วยความเหมาะสม หนักเบา ยังคงยึดในหลักการว่าเราจะไม่ยื่นในเรื่องนโยบาย

นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า งบประมาณ 2568 มีความสำคัญที่สุด หากจะระงับยับยั้งนอกเหนือจากกลไกที่ใช้ได้ในสภา ซึ่งเราก็จะได้ใช้กระบวนการในกรรมาธิการไปจนแล้วเสร็จ แต่งบประมาณ 2567 ซึ่งมีการของบเพิ่มเติมกลางปีด้วยการกู้เงินเพิ่มอีก 112,000 ล้านบาท ตรงนี้ไม่ได้กระทบกับใครเลยนอกจากดิจิทัลวอลเล็ต ก็เป็นอีก 1 แหล่งเงิน ถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าก็หาแหล่งเงินอื่นได้โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงผิดกฎหมาย เราจึงคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่กระทบประชาชนแน่นอน

นางสาวศิริกัญญา ยังกล่าวด้วยว่า งบประมาณ 2567 ที่จะใช้เป็นงบข้ามปี ซึ่งจะอนุมัติในงบปีงบประมาณ 2567 แต่จะขอไปใช้ในปี 2568 ซึ่งงบนี้จำเป็นที่จะต้องใช้ให้หมดภายในปีเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง การจะใช้ข้ามปีได้ต้องก่อหนี้ผูกพันหรือทำสัญญาให้แล้วเสร็จ แต่ในกรณีดิจิทัลวอลเล็ต ไม่มีการทำสัญญา แต่มีการลงทะเบียน โดยนับการลงทะเบียนเป็นการผูกพันทำสัญญา ซึ่งมันก็สุ่มเสี่ยง ถ้ามีหน่วยงานที่ใช้กรณีนี้เป็นบรรทัดฐาน แล้วบอกว่าถ้าอย่างนั้นโครงการยังไม่ได้ทำให้ประชาชนลงทะเบียนก่อน แล้วถือว่าผูกพันตามสัญญาแล้ว ขอไปใช้ในปีถัดไป แบบนี้จะเกิดความเสียหายได้ในอนาคต จะมีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีในหลายหน่วย เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเทคนิค แต่ข้าราชการประจำก็ทราบดีว่ากำลังทำอะไรอยู่

“เป็นช่องทางที่เราเห็นว่า มันทำผิดตำตา เราก็ไม่อยากเห็นการกระทำที่มีความผิดกฎหมายแบบนี้ซึ่งผลที่เราอยากเห็นก็คืออยากแค่ยับยั้ง ไม่ใช่เป็นการเอาผิดหรือเป็นการล้มโครงการไปเลย รัฐบาลก็ยังเดินหน้าต่อไปได้โดยใช้แหล่งเงินอื่น”

นางสาวศิริกัญญา กล่าวย้ำว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นโครงการที่พรรคเพื่อไทยสัญญากับประชาชนไว้ อย่างไรก็คงต้องให้รัฐบาลทำตามที่สัญญา เราก็คอยดูว่าจะไม่มีกระบวนการไหนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นโยบายที่เขาอยากทำก็ต้องให้ทำไป ส่วนเราเห็นด้วยหรือไม่ก็แสดงความเห็นเขาได้อยู่แล้วทั้งในและนอกสภา และจะใช้กระบวนการในสภาให้ถึงที่สุดก่อน

“มันเป็นไปด้วยเหตุผลเดียวจริงๆว่าต้องทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ให้สำเร็จเพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้เสียอะไรไปมากกว่าในเรื่องของความนิยมความเชื่อใจและชื่อเสียงที่ทำมาในอดีตของรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย มันเลยกลายเป็นว่าต้องยอมแลกทุกอย่าง ทำให้เกิดความเสี่ยงในทุกด้านอย่างที่เห็น … ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงต้องยอมทำทุกอย่างขนาดนี้เพื่อรักษาหน้าอย่างที่เห็น”

นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า รัฐบาลพยายามตัดรายจ่ายประจำบางอย่าง เช่น งบบำนาญ ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี ภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็จะทะลุ 12-13% ปีต่อไปก็รับรองได้เลยว่าเงินชำระหนี้จะสูงขึ้น งบประมาณประจำปีไม่ต้องไปทำอย่างอื่นแล้วนอกจากชำระหนี้

นางสาวศิริกัญญา ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องของการท้าให้ไปบวชชีหากดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสำเร็จว่า เป็นการท้าฝั่งเดียวของนายอดิศร เพียงเกษ อดีตประธานวิปรัฐบาล แต่เรื่อง GDP โต 5% หากทำสำเร็จ ตนจะบวชจริง

“หากเศรษฐกิจโลกดีขึ้นทันตา หมดสงคราม ดิฉันก็ต้องอาจจะต้องบวชจริง เพื่อล้างซวยให้ประเทศ” และย้ำว่า “GDP เฉลี่ย 4 ปีตามอายุไขรัฐบาล หากโต 5% จะบวชจริง”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *