24 ตุลาคม 2024

8 วัน กับ เรื่องดีๆในซินเจียง ประเทศจีน EP5

0

Day 5
19 มิถุนายน 2567
คณะผู้จัดได้พาเราไปชมพื้นที่การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือ Solar Energy ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดจากธรรมชาติและต้นทุนต่ำ และเขตพื้นที่ในซินเจียงมีลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมมากกับการใช้เป็นพื้นที่ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เพราะเป็นพื้นที่ทะเลทรายและภูเขา แสงแดดแรงอย่างเข้มข้นและกลางวันมีระยะเวลานานถึง 15 ชั่วโมงต่อวัน คือ ท้องฟ้าจะสว่างตั้งแต่ 6 โมงเช้า ไปถึงตอน 3 ทุ่ม

เราออกจากโรงแรม Kucher Grand Hotel มุ่งสู่ทางทิศใต้จากเมืองคู่เชอ Kucher เพื่อไปยังเขตอำเภอ Shaya County เพื่อไปดูโครงการแผงโซล่าเซลล์ ที่ Shaya County Photovoltaic Industrial Park เส้นทางและพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย แห้งแล้ง ไม่ค่อยมีพื้นที่เขียวให้เห็น จึงไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ในบริเวณนี้ การใช้ประโยชน์เป็นแหล่งผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเหมาะสมอย่างยิ่ง

รัฐบาลจีน ทำให้พื้นที่ในซินเจียงมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง แม้ในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร แถมมีต้นทุนที่ต่ำและลดมลภาวะ ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นผู้ส่งออกแผงโซล่าเซลล์อันดับหนึ่งของโลก และเป็นที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เป็นปริมาณมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยหน่วยงานของจีนที่ดูแลเรื่องพลังงาน คือ บริษัท Power China ซึ่งดูแลการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด จากพลังน้ำ และจากพลังลม ทั้งการก่อสร้างและเดินสายส่ง สำหรับโครงการที่มาดูเป็นตัวอย่างหนึ่งที่รัฐบาลจีนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้มีพลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอ และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆตามมา

เสร็จจากการเยี่ยมชมและฟังการบรรยายจากวิศวกรควบคุมโครงการ ก็ขึ้นรถบัส ตรงไปร้านอาหาร ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เข้าไปในเขตที่เป็นชุมชน Qiu ci ชิวฉือ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำทาริม Tarim River เป็นร้านอาหาร แนวสไตล์พื้นเมืองของชาวอูยกูร์ ซึ่งเป็นเป็นเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง และผลิตภัณฑ์จากนมแพะ นอกจากอาหารพื้นเมืองแบบชาวอูยกูร์แล้ว ก็ยังมีศิลปะวัฒนธรรมให้พวกเราได้ชมด้วย เป็นเอกลักษณ์ที่สวยงาม

จากนั้น เรามุ่งเข้าเขตชุมชน ที่มีประชากรกระจุกตัวอาศัยกัน ในเขต Shaya County เพื่อไปเยี่ยมชมกิจการสหกรณ์ปลูกฝ้ายของชุมชน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในซินเจียง พูดภาษาจีนไม่ได้ ต้องผ่านล่ามแปลภาษา รูปแบบของการบริหารจัดการในระบบสหกรณ์ของที่นี่มีความน่าสนใจมาก เดิมทีเกษตรกรจะมีไร่ของตัวเองไม่มากนักต่อครอบครัว และมักไม่มีเครื่องจักรกลที่จะช่วยทุ่นแรง หรือเพิ่ม Productivity และประกอบกับความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ ทำให้แต่ละครอบครัวจะมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ

โครงการสหกรณ์ที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้จัดทำขึ้น จะให้เกษตรกรเข้าร่วมสหกรณ์โดยสมัครใจ โดยนำที่ดินของตัวเองมาเข้าร่วมสหกรณ์ และจะได้ค่าเช่าที่แน่นอนจากสหกรณ์ และตัวเกษตรกรจะมารับเป็นลูกจ้างทำงานไร่ฝ้ายกับสหกรณ์โดยมีเงินเดือนค่ารับจ้างก็ได้ หรือจะไปทำงานอย่างอื่นที่ตนเองชอบก็ได้ สำหรับสหกรณ์จะบริหารงานแบบบริษัทมืออาชีพ มีพื้นที่ไร่ฝ้ายที่ใหญ่ มีการลงทุนในเครื่องจักรกล อุปกรณ์ต่างๆ มีระบบการบริหารจัดการที่ดีกว่าเกษตรกรทำเองคนเดียว และก่อให้เกิด Economy of scale และ productivity สามารถมีผลิตผลที่เพียงพอไปป้อนให้กับอุตสาหกรรมทอผ้า

ในการสัมภาษณ์เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการของสหกรณ์ พบว่าตัวเกษตรกรมีความพอใจและมีรายได้ที่แน่นอน และเพิ่มขึ้นมากจากการเข้าโครงการ มีเวลาที่ยืดหยุ่น ไม่ต้องทำงานในไร่ฝ้ายทั้งวันเหมือนเมื่อก่อน นับได้ว่าเป็นโครงการที่ดีและประสบผลสำเร็จของรัฐบาลจีน ในการสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนชาวอูยกูร์ในเขตซินเจียง

จากนั้นเดินทางต่อไปยังเขตชุมชน Xinhe County ไปที่หมู่บ้าน เจียอี้ Jia Yi Village ซึ่งชุมชนชาวอูยกูร์กลุ่มนี้ บรรพบุรุษมีความเชี่ยวชาญการประดิษฐ์และการเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองต่างๆหลายชนิด โดยอยู่อาศัยรวมกันเป็นหมู่บ้าน เป็นชุมชน ซึ่งยังคงรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนได้เป็นอย่างดีถึงปัจจุบัน หน้าทางเข้าหมู่บ้าน มีรูปปั้นของบรรพบุรุษต้นตระกูลที่มีชื่อเสียงในการเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีเป็นคนแรก ที่นี่คณะของเราได้รับการต้อนรับด้วยอาหารสไตล์อาหรับ และการแสดงเต้นรำของวัฒนธรรมพื้นเมือง

ออกจากหมู่บ้าน Jia yi เขตชุมชนซินเหอ Xin he เพื่อกลับโรงแรมที่พัก ระหว่างทางกลับได้แวะชม Kizilgaha Beacon Tower ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์โบราณที่มนุษย์สร้างขึ้น มีลักษณะเป็นแท่งหินสูง ประมาณ 20 เมตร ตั้งอยู่บนพื้นกลางทะเลทราย ในสมัยโบราณจะใช้เป็นหอคอยไว้ตรวจดูการบุกรุกของข้าศึก แล้วจะจุดไฟบนหอคอยเพื่อเป็นสัญญาณว่าข้าศึกกำลังบุกเข้ามา

หอคอย Kizilgaha Beacon Tower ที่ไปชม อยู่ในเขตเมือง Aksu เป็นหนึ่งในหอคอยโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีมากที่สุดในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งหอบีคอน เป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันกำแพงเมืองจีนโบราณของจีน มีบทบาทสำคัญในการปกป้องเส้นทางสายไหม และปรับปรุงเสถียรภาพและการพัฒนาในภูมิภาคตะวันตก นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (260 ปีก่อนคริสตกาล-220) รัฐบาลกลางเริ่มสร้างป้อมปราการและระบบป้องกันทางทหารเชิงกลยุทธ์ เช่น กำแพงเมือง กำแพงป้อมปราการ และหอสัญญาณ

หอบีคอนมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำการตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อส่งข้อความ พวกเขาจุดไฟในเวลากลางคืนและใช้สัญญาณควันในตอนกลางวัน โดยใช้รหัสต่างๆ เพื่อระบุจำนวนและตำแหน่งของกองกำลังศัตรู ถือเป็นหนึ่งในหอคอยโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีมากที่สุดในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

หอคอยแห่งนี้เป็นอนุสรณ์สถานหายากและล้ำค่าของเส้นทางสายไหมโบราณในภูมิภาคตะวันตก ไม่เพียงแต่เป็นสัญญาณโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีและเก่าแก่ที่สุดในซินเจียงเท่านั้น แต่ยังเป็นพยานถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเส้นทางสายไหมโบราณ ตลอดจนมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ การสื่อสารทางทหาร วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม และอื่นๆ อีกมากมาย

ขากลับเข้าโรงแรมที่พัก เมื่อเดินทางเข้าสู่เขตเมืองคู่เชอ จะสังเกตเห็นถนนหนทางมีความทันสมัย สว่างไสว ไม่แพ้เมืองอื่นๆของจีน แสดงให้เห็นถึงการกระจายความเจริญไปสู่ทุกๆเมือง ไม่กระจุกตัวแบบกรุงเทพ และมีการกระจายอำนาจในการปกครองท้องถิ่น

อดิเรก พิพัฒน์ปัทมา รายงาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *