23 ตุลาคม 2024

เพราะวันนี้ 10 มกราคม เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าพบ

ในมุมของรัฐบาล ถูกมองว่าเรียกพบเพราะไม่แฮปปี้กับผู้ว่าแบงก์ชาติคนนี้มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จากการไม่ออกโรงช่วยสนับสนุนนโยบายแจกเงินดิจิตอลวอลเลต 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย อย่างที่อยากให้เป็น

เมื่อครั้งนี้ มีประเด็นเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และส่งผลให้แบงก์พาณิชย์ฉวยโอกาสใช้เป็นปัจจัยในการสร้างกำไรมหาศาลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย

ทำให้แบงก์ชาติถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และต้องการให้แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

ภาพความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับผู้ว่าแบงก์ชาติคนนี้จึงมีร่องรอยของความเห็นต่างอยู่ลึกๆ

แต่สิ่งที่จะต้องไม่ลืม คือ รัฐบาลมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินก็จริง แต่แบงก์ชาติ ถือเป็นองค์กรที่ต้องมีความเป็นอิสระในการบริหารด้านระบบการเงิน ด้านเงินทุนทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งใครจะก้าวก่ายไม่ได้

หาก เศรษฐา เกิดแสดงท่าทีเหมือนก้าวก่าย ก็ต้องระวังในเรื่องมาตรา 157 เอาไว้ให้ดีด้วย

อย่าลืมนายกรัฐมนตรีก็มีสิทธิ์โดนมาตรา 157 เช่นกัน ซึ่งในอดีตก็มีโดนให้เห็นกันแล้ว

คำถามจึงอยู่ที่ว่า คนเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องดอกเบี้ยนโยบายจริงหรือ แน่นอนว่าไม่จริง และเท่าที่รู้จัก เศรษฐพุฒิ ถือเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถในระดับแถวหน้าคนหนึ่ง เศรษฐาและรัฐบาล จึงต้องคิดและทำความเข้าใจให้มากกว่าการใช้อารมณ์ ว่าทำไมแบงก์ชาติ ถึงจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

เหตุผลหลัก เพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ระบบการเงินของประเทศไทยเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของโลก ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ อยู่ที่ 5% กว่าๆ ถ้าที่ผ่านมาแบงก์ชาติไม่ขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเลย สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือเงินทุนจะไหลออกจากประเทศไทย ทั้งเงินฝาก และเม็ดเงินในตลาดทุนตลาดหุ้น

หากเงินไหลออกจากประเทศไทย เศรษฐกิจที่บอบช้ำมาก ในช่วง 3 ปีสุดท้ายของรัฐบาลก่อน และกำลังจะฟื้นตัวนั้น ย่อมไม่แข็งแรงพอที่จะรับมือได้แน่ และนั่นจะไม่ใช่แค่การทำให้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าจะยิ่งไม่ฟื้น แต่มีสิทธิ์ที่จะทำให้เศรษฐกิจ ตลาดทุน ระบบการเงิน และกองทุนระหว่างประเทศ หายนะได้

ฉะนั้น ต้องมองความจำเป็นในมุมมองของแบงก์ชาติด้วย ว่าทำไมถึงต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายโลก

ถ้าผู้ว่าแบงก์ชาติไม่มีความรู้ความสามารถ หรือเป็นประเภทเอาใจรัฐบาล ผู้ว่าแบงค์ชาติแบบนั้นจะบีบจะปลดให้พ้นจากตำแหน่งไป ก็คงไม่มีใครว่าอะไร แต่ถ้าเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติที่มีความรู้ความสามารถ มีจุดยืน และยึดมั่นในผลประโยชน์ทางการเงินของประเทศ โดยยอมแม้กระทั่งขัดใจรัฐบาล ผู้ว่าแบงก์ชาติแบบนี้ต่างหากที่ต้องเก็บไว้

และเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติที่ประชาชนต้องการ

ในมุมมองของทั่วโลก ประเทศที่รัฐบาลขัดแย้งกับธนาคารชาติ ประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงกดดันธนาคารชาติ แปลว่าเศรษฐกิจของประเทศนั้นกำลังสาหัสหนัก ภาพเช่นนี้จึงจำเป็นต้องระวัง

ฝาก เศรษฐา ทวีสิน คิดให้ดี หากเข้าไปแทรกแซงเข้าไปกดดัน จนแบงก์ชาติขาดความเป็นอิสระ ระวังมาตรา 157 เอาไว้ด้วยแล้วกัน

เตือนด้วยความเป็นห่วงนะ

ภูวนารถ ณ สงขลา

1 thought on “‘เศรษฐา’ ระวังมาตรา 157

  1. บทความนี้ให้น้ำหนักผู้ว่าธนาคารกลางที่รัฐบาลที่แล้วแต่งตั้งว่ามีอิสสระและอำนาจเหนือกว่านายกหรือรมวคลังที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มันผิดหลักประชาธิปไตยอย่างชัดเจน รัฐบาลมีหน้าที่และความรับผิดชอบการกำหนดนโยบายการบริหารประเทศ ข้าราชการหรือผู้ว่าการธนาคารกลางหรือองค์กรของรัฐทุกหน่วยต้องปฎิบัติตามนโยบายที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่เห็นด้วยมีทางออกด้วยการยื่นใบลาออกเท่านั้น อย่าหลงตัวเองว่าจะสามารถขัดคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย จะชอบหรือไม่ต้องปฎิบัตตามคำสั่ง. ไม่มีเรื่อง157 ยกเว้นเป็นการใช้กฎหมายอย่างศาลเตี้ยที่เคยปรากฎในยุคคสช

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *