24 ตุลาคม 2024

‘ฟรีวีซ่าจีน-ไทย’ เริ่มแล้ว จุดประกายท่องเที่ยวคึกคัก

0

วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา คือวันแรกเริ่มต้นของการมีผลอย่างเป็นทางการสำหรับข้อตกลงระหว่างประเทศไทยและจีน ที่ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา หรือการยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกัน

โดยเมื่อวันที่  28 มกราคม 2567 นายหวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้พบปะกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อร่วมการประชุมหารือประจำปี ณ กรุงเทพฯ ซึ่งภายหลังการประชุมหารือแล้ว รัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้มีการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหรือวีซ่าระหว่างกัน โดยให้เริ่มมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

นายหวังอี้ ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้กล่าวว่า จีนและไทยเป็นครอบครัวเดียวกัน และเนื่องจากปีหน้าเป็นวาระครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับไทย ทั้งสองประเทศจะได้พบกับโอกาสใหม่ๆ และควรลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ในห้วงยามแห่งการพัฒนาความทันสมัยของตน รวมถึงการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน

“จีนและไทยกำลังจะเข้าสู่ “ยุคปลอดวีซ่า” อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป และเชื่อมั่นว่าการยกเว้นวีซ่าระหว่างกันนั้น จะผลักดันการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนสองประเทศไปสู่ระดับใหม่อย่างแน่นอน”นายหวังอี้ ระบุ

ขณะที่ นายปานปรีย์ กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานะหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างไทยกับจีน รวมถึงการกระชับความร่วมมือฉันมิตรกับจีน เพราะไม่เพียงสอดคล้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ แต่ยังสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพของโลกด้วย โดยไทยยึดมั่นในหลักการจีนเดียว

สำหรับการยกเว้นวีซ่าระหว่างกันของไทยและจีนในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดมาจากที่ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าแก่พลเมืองจีนชั่วคราว เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่ง มาตรการดังกล่าวกำหนดไว้ว่าจะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ดังนั้น การทำข้อตกลงยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกัน และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นไป จึงถือเป็นการเชื่อมต่อมาตรการแบบไร้รอยต่อ เพราะนักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางมาไทยได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยรัฐบาลไทยได้มีการตั้งเป้าหมายเบื้องต้นไว้ว่า จากมาตรการฟรีวีซ่าระหว่างจีนกับไทย จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนในปี 2567 จำนวน 8 ล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการเบื้องต้นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ที่คาดว่าในปี 2567 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างน้อยประมาณ 8 ล้านคนจะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย และจะสร้างรายได้ราว 3.2 แสนล้านบาท

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เปิดเผยว่าในช่วงวันที่ 7-15 กุมภาพันธ์ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกือบ 1 ล้านคนเข้ามาเที่ยวชมเทศกาลตรุษจีนในไทย โดยในจำนวนดังกล่าว คาดว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนประมาณ 180,000 คน

ทั้งนี้ หากประเมินจากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ที่ระบุว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมานั้น ไทยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงถึง 28 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 151 เมื่อเทียบปีต่อปี และประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2566 สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท โดยพบว่า เป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากมาเลเซียราว 4.4 ล้านคน และจากจีน 3.51 ล้านคน ซึ่งมาเลเซียและจีน ถือเป็นสองแหล่งนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สุดของไทย

ซึ่งในความเป็นจริง นักท่องเที่ยวชาวจีนครองสัดส่วนราวร้อยละ 28 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเยือนไทยเกือบ 40 ล้านคนในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 และที่ผ่านมาการท่องเที่ยวมีส่วนส่งเสริมผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย ราวร้อยละ 12 ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลไทยจึงมีความเชื่อมั่นว่า นโยบายฟรีวีซ่าที่ให้กับชาวจีนในครั้งนี้ จะส่งผลทางบวกต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอย่างแน่นอน

สอดคล้องกับข้อมูลที่พบว่า กระแสความนิยมเดินทางท่องเที่ยวไทย หลังจากจีนและไทยลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกันอย่างเป็นทางการแล้ว กระแสตอบรับการประกาศนโยบายฟรีวีซ่าดีมาก ทำให้ยอดค้นหาคำว่า “ประเทศไทย” บนแพลตฟอร์มการเดินทางท่องเที่ยวรายใหญ่ของจีนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 90 โดยสื่อมวลชนของจีนเองก็มีการเผยแพร่ข่าวสารว่ามีความสนใจได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ามีการค้นหาและแชร์ข้อมูลรีวิวที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไทยมากขึ้น

หลิวเจียเผิง จากทริปดอตคอม (Trip.com) เปิดเผยว่ายอดคำค้นหาเกี่ยวกับไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 7 เท่า เมื่อเทียบกับวันก่อนประกาศยกเว้นวีซ่า โดยยอดค้นหาบัตรโดยสารเที่ยวบินและโรงแรมที่พักต่างเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 เท่า ส่วนจุดหมายที่นักท่องเที่ยวชาวจีนกดค้นหากันมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ เกาะสมุย และพัทยา

และในขณะเดียวกัน ยอดคำค้นหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจีนบนเว็บไซต์ของทริปดอตคอมในไทย ก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับวันก่อนประกาศยกเว้นวีซ่า โดยเมืองของจีนที่นักท่องเที่ยวชาวไทยสนใจ และกดค้นหาข้อมูลมากที่สุด ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู ฮาร์บิน เซินเจิ้น และปักกิ่ง

อีกทั้ง ยังมีข้อมูลจากบรรดาบริษัทเอเจนซีการท่องเที่ยวต่างประเทศของจีน ที่ระบุว่าข้อตกลงฟรีวีซ่าไม่เพียงเกื้อหนุนการเดินทางของนักท่องเที่ยว แต่ยังสะท้อนให้เห็นมิตรภาพอันดีระหว่างประชาชนชาวจีนและชาวไทย ซึ่งจะส่งเสริมการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวของสองประเทศ

และยืนยันว่า หลังมีข้อตกลงฟรีวีซ่าให้กับชาวจีน ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่มีลูกค้าสอบถามถึงมากที่สุด โดยหากพิจารณาจากกระแสตอบรับของนักท่องเที่ยวจีน ต้องยอมรับว่านโยบายนี้มีผลต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยวจีนอย่างมาก เพราะไม่ใช่เพียงเรื่องประหยัดค่าธรรมเนียมวีซ่าเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับการยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนของประเทศไทยอีกด้วย

เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวไทย ก็มองว่าข้อตกลงฟรีวีซ่าระหว่างจีน-ไทย ในครั้งนี้ เท่ากับจีนเองก็ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ยอดเดินทางของชาวไทยที่ไปท่องเที่ยวในจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยเช่นกัน ถือได้ว่าเป็นการ win-win ด้วยกันทั้ง 2 ประเทศ และยังมีผลในการเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชนของ 2 ประเทศในการเจรจาหารือทางธุรกิจ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงเร่งรัดการฟื้นฟูการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนระหว่างจีนกับไทย และขยายไปสู่กลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย

นายชนะพันธ์ แก้วกล้าไชยวุฒิ อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน ระบุว่า การยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกันได้ลดกฎเกณฑ์และต้นทุนด้านการท่องเที่ยว เกื้อหนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนสองประเทศ และอัดฉีดแรงผลักดันที่แข็งแกร่งสู่การฟื้นตัวและความเจริญรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้งไทยและจีน

โดย นายภูวนารถ ณ สงขลา
ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว บางกอกทูเดย์ และ สำนักข่าว Bangkok Wealth & Biz

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *