24 ตุลาคม 2024

การฟื้นตัวด้านผลิตภาพของบริษัทจดทะเบียนในช่วงปี 2563-2565

0

· การวัดผลิตภาพรวม (Total Factor Productivity – TFP) แสดงให้เห็นความสามารถของกิจการในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากปัจจัยการผลิตที่ใช้ไป โดยในช่วงปี 2563 – 2565 บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai มีผลิตภาพรวมที่ฟื้นตัวได้ สามารถแข่งขันได้ดีขึ้นหลังจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 สอดคล้องกับการเติบโตของ GDP ในปี 2564 และ 2565 ที่เติบโตขึ้นร้อยละ 1.6 และ 2.5 ตามลำดับ และจากการวิเคราะห์ TFP ร่วมกับฐานข้อมูลการจ้างงานและฐานข้อมูลรายได้ต่างประเทศ

ซึ่งฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รวบรวมจากการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนพบว่า บจ. มีการจ้างงานในปี 2564 และ 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 8.8 และ 8.3 ตามลำดับ และมีรายได้จากต่างประเทศเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 29 และร้อยละ 31 ของรายได้บริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ตามลำดับ

· หมวดธุรกิจที่มีผลิตภาพรวมฟื้นตัวหลังโควิด-19 และอยู่ในระดับที่สูง 5 อันดับแรก ได้แก่ หมวดการแพทย์ หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หมวดบริการเฉพาะกิจ หมวดยานยนต์ และ หมวดแฟชั่น นอกจากนี้ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดพลังงาน และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ ก็มีผลิตภาพรวมที่ฟื้นตัวหลังโควิด-19 ได้ดีแม้ยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก

· โดยทั่วไปแล้วบริษัทที่มีผลิตภาพรวมในระดับสูงและเติบโต มักจะสร้างมูลค่าเพิ่มต่อสินทรัพย์ดำเนินงานได้สูง มีสินค้าและบริการที่แข่งขันได้และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ มีการทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้าและบริการหรือประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ รวมทั้งมีการบริหารจัดการสินทรัพย์และต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ

· จากการศึกษาเกี่ยวกับผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยโดย World Bank เมื่อปี 2563 พบว่า การส่งออก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการพัฒนาทักษะ รวมถึงการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อผลิตภาพของกิจการ รวมทั้งการศึกษาของ OECD ระบุว่า ระดับของผลิตภาพมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรวมถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้อุตสาหกรรมที่สร้างผลิตภาพได้ในระดับสูงเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *