24 ตุลาคม 2024

นานาชาติผสานกำลัง ‘ฟังเสียงจักรวาล’ ผ่านโครงการ ‘กล้องวิทยุโทรทรรศน์ SKA’

0

แฟ้มภาพซินหัว : ต้นแบบเสาอากาศชุดแรกของโครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุเอสเคเอ เปิดตัวที่เมืองสือเจียจวง มณฑลเหอเป่ยของจีน วันที่ 6 ก.พ. 2018

ปักกิ่ง, (ซินหัว) — พื้นที่อันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ไร้สัญญาณวิทยุในแอฟริกาใต้และออสเตรเลียนั้น ขณะนี้เป็นที่ตั้งของโครงการวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่สำคัญที่อยู่ระหว่างการเร่งก่อสร้าง นั่นคือ กล้องโทรทรรศน์วิทยุอาเรย์ตารางกิโลเมตร หรือเอสเคเอ (SKA)

แฟ้มภาพซินหัว : กล้องโทรทรรศน์วิทยุเมียร์แคต (MeerKAT) โครงการต้นกำเนิดของกล้องโทรทรรศน์วิทยุเอสเคเอ และคลื่นความถี่วิทยุขนาดใหญ่ในใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก

เมื่อสร้างเสร็จ กล้องตัวนี้จะรับคลื่นวิทยุจากระยะไกลหลายพันล้านปีแสงเพื่อแปลงเป็นภาพ และจะช่วยให้นักดาราศาสตร์มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการกำเนิดและวิวัฒนาการของดาวฤกษ์และกาแล็กซีกลุ่มแรกหลังปรากฏการณ์บิ๊กแบง

กล้องเอสเคเอจะเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดในโลกในส่วนของรูรับแสงโดยรวม โดยจะรับผิดชอบด้านการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ใหม่เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจของมนุษยชาติเกี่ยวกับจักรวาลและกฎทางกายภาพขั้นพื้นฐาน

การสำรวจดังกล่าวครอบคลุมถึงการก่อตัวของเทหวัตถุในอวกาศรุ่นแรก วิวัฒนาการของกาแล็กซี ธรรมชาติของพลังงานมืด แม่เหล็กอวกาศ แก่นแท้ของแรงโน้มถ่วง สารชีวโมเลกุล และการค้นหาอารยธรรมนอกโลก

แฟ้มภาพซินหัว : “เผิงเฉิง คลาวด์ เบรน II” หลังจากกลับมาติดอันดับไอโอ500 (IO500) โดยมีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด วันที่ 1 ก.ค. 2021

ช่วงต้นปี 1993 ประเทศต่างๆ 10 แห่ง ซึ่งรวมถึงจีน ได้ร่วมกันริเริ่มการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุเอสเคเอ และเมื่อนับถึงเดือนมิถุนายน 2024 สมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการอย่างเป็นทางการมีทั้งแอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร จีน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส และแคนาดา รวมถึงประเทศผู้สังเกตการณ์ ประกอบด้วย อินเดีย ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

โครงการดังกล่าวยังเป็นแพลตฟอร์มการประมวลผลทางวิทยาศาสตร์ข้อมูลขั้นสูงที่เข้มข้นอีกด้วย โดยหนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือวิธีการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล และหลังจากสร้างเสร็จและใช้งานแล้ว โครงการนี้จะสร้างข้อมูลมากกว่า 1 เอกซะไบต์ หรือ 1 พันล้านกิกะไบต์ต่อปี

แฟ้มภาพซินหัว : ทีมงานของศาสตราจารย์หวังเฟิง จากมหาวิทยาลัยกว่างโจว และโอเลก สเมอร์นอฟ ประธานการวิจัยโครงการเอสเคเอของศูนย์เทคโนโลยีดาราศาสตร์วิทยุของมหาวิทยาลัยโรดส์ ร่วมกันหารือเกี่ยวกับปัญหาการประมวลผลข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์วิทยุเอสเคเอ

ด้วยการสนับสนุนและคำแนะนำจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องทดลองเผิงเฉิงและทีมงานของศาสตราจารย์หวังเฟิง จากมหาวิทยาลัยกว่างโจว จึงได้จัดตั้งทีมวิจัยขึ้นเพื่อเสริมจุดแข็งของกันและกันในการสร้างระบบประมวลผลข้อมูลวิทยาศาสตร์เอสเคเอ (SDP) โดยทีมวิจัยร่วมได้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อพัฒนาชุดซอฟต์แวร์สนับสนุนการประมวลผลและการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าโดยใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “เผิงเฉิง คลาวด์ เบรน” (Pengcheng Cloud Brain)

หลังสร้างเสร็จ โครงการนี้จะกลายเป็นหนึ่งในศูนย์วิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในโลก และจะกลายเป็นต้นแบบในการใช้เทคโนโลยีเอไอของจีนในการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ และส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมนุษย์

เรียบเรียงโดย Dong Daoyong, https://www.xinhuathai.com/silkroad/450532_20240716 , https://en.imsilkroad.com/p/340958.html

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *