24 ตุลาคม 2024

มหาดไทย ชวนประกวดผ้าลายพระราชทาน‘ผ้าลายสิริวชิราภรณ์’ และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567

0

เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรม ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับสู่สากล ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน และส่งเสริมผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน  ได้จัดให้มีการให้ความรู้ในเรื่องการพัฒนาลวดลายตามลายพระราชทาน (Coaching) ผู้ผลิต ประกอบการ OTOP ช่างทอผ้า และช่างหัตถกรรม เพื่อเป็นการสืบสานต่อยอดงานผ้าไทย และงานหัตถกรรม โดยจัดให้มีการประกวดผ้าลายพระราชทานและงานหัตถกรรม เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ การเชิดชูเกียรติให้กับผู้ที่สืบสานต่อยอดงานผ้าไทยและงานหัตถกรรม ส่งเสริมช่องทางการตลาดและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP  มีอาชีพ และมีรายได้ โดยจัดให้มีการประกวดผ้าลายพระราชทานและงานหัตถกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

โดยในปีนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดงานแถลงข่าวการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 เพื่อคัดเลือกผ้าลายพระราชทานและงานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวด โดยผู้ชนะการประกวดจะได้รับเหรียญรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยสามารถนำผืนผ้าไปเป็นต้นแบบให้แก่ผู้สนใจ โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์ และดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก รวมถึงนายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของกิจการ แบรนด์เธียเตอร์ ร่วมเปิดเผยรายละเอียดการประกวดฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมฟินิกซ์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการประกวดผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 ว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ ณ บ้านคำปุน ตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้พระราชทานแบบลายผ้า ‘ผ้าลายสิริวชิราภรณ์’ เพื่อเชิญไปมอบแก่ศิลปินช่างทอผ้า และหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ ซึ่งผ้าลายสิริวชิราภรณ์นี้ เป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยมีลายพระราชทาน หลักจำนวน 4 ลาย ได้แก่ ลายวชิรภักดิ์ ที่ได้รับแรงบันดาลพระทัยจากอักษร ‘ว’ ซึ่งเป็นอักษรพระปรมาภิไธยตัวแรก ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567 ที่ทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทานลำดับแรก ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายหัวใจ สื่อถึงความรักและความห่วงใยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยในทุกภาคทั่วประเทศ และลายดอกรักราษฎร์ภักดี  โดยทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทานผ้าลายดอกรักราชกัญญา สื่อถึงความรักและความภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลักทั้ง 4 ลายนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่น ตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงสนับสนุนให้คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกระตุ้นและพัฒนาผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล การ Coaching ผ้าลายพระราชทาน เพื่อให้มีผืนผ้าที่สวยงามสำหรับการประกวดฯ และสามารถต่อยอดการผลิตผืนผ้าให้เป็นที่นิยม  ในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาสอีกด้วย โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการจัดประกวดฯ ผ้าลายพระราชทาน ลายต่าง ๆ ทำให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย มีช่องทางด้านการตลาดและเพิ่มรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการสร้างการรับรู้ การส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งทำให้มีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ช่างทอผ้า และประชาชนทั่วไป สมัครเข้าร่วมประกวดจำนวนมากขึ้นทุกปี ซึ่งผู้ที่สนใจ สมัครเข้าร่วมการประกวดฯ ได้จนถึงสิงหาคม 2567 นี้

นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวถึง การจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 ว่า ผู้ที่สนใจส่งผ้าลายพระราชทาน และงานหัตถกรรมเข้าประกวดฯ ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ทั่วประเทศ ซึ่งจะรับสมัครไปจนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2567 จากนั้นคณะกรรมการจะพิจารณากลั่นกรองตามแนวทางและหลักเกณฑ์การประกวดฯ ก่อนรวบรวมผ้าและงานหัตถกรรมส่งเข้าประกวดในระดับภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย 1. ภาคกลาง ในวันที่ 24 สิงหาคม 2567 จังหวัดนนทบุรี 2. ภาคเหนือ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่ 3. ภาคใต้ ในวันที่ 7 กันยายน 2567 จังหวัดสงขลา และ 4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 17 – 18 กันยายน 2567 จังหวัดอุดรธานี โดยจะจัดการประกวดรอบตัดสินระดับภาค (Quarter final) ในวันที่ 21 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร และรอบรองชนะเลิศ ระดับประเทศ (Semi Final) ในวันที่ 23 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชน จะดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าจำนวน 50 กลุ่ม/ราย จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผลงานการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ระหว่างวันที่ 25 – 29 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร

“ในวันที่ 31 ตุลาคม  2567  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จะเสด็จเป็นองค์ประธานตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน ‘ผ้าลายสิริวชิราภรณ์’ และงานหัตถกรรม รอบตัดสินระดับประเทศ ณ กรุงเทพมหานคร และในเดือนพฤศจิกายน 2567 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จะจัดให้มีพิธีมอบเหรียญรางวัลพระราชทานฯ สำหรับผู้ที่ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน ‘ผ้าลายสิริวชิราภรณ์’ และงานหัตถกรรม และรางวัลชนะการประกวดตามโครงการ แนวพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วต่อไป” 

ทั้งนี้ จำนวนผู้ส่งผ้าและงานหัตถกรรมเข้าร่วมประกวด ณ ปัจจุบัน จากทั้ง 4 ภาค รวม 47 จังหวัด แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้า จำนวน 4,415 ผืน และงานหัตถกรรม 163 ชิ้น รวมทั้งหมด 4,578 ชิ้นงาน  สำหรับผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวด สามารถส่งใบสมัครพร้อมแนวคิดและเรื่องเล่า  (Story Telling) ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ทั่วประเทศ ได้จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2567

นายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวถึงหลักเกณฑ์การส่งผลงานเข้าประกวด ว่า ผู้ที่จะส่งผ้าเข้าประกวดต้องเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้า หรือช่างงานหัตถกรรมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่สมัครเข้าประกวด  รวมทั้งต้องส่งผลงานตามภูมิลำเนาที่ผลิต ที่สำคัญผ้าที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผ้าทอมือ หรือทำจากมือเท่านั้น ไม่รับพิจารณาผ้าที่ทอจากกี่กระตุกหรือระบบอุตสาหกรรม โดยต้องเป็นผ้าที่ตัดจากกี่ ไม่ผ่านการซัก อบ รีด หรืออาบน้ำยาเคมี ใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้น ผ้าบาติก ผ้าพิมพ์ลาย ผ้ามัดย้อม และไม่รับพิจารณาผ้าที่เย็บเป็นถุง/เย็บริมผ้าด้วยจักร และผ้าและงานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นไหมพันพื้นบ้าน หรือฝ้ายเข็นมือ และต้องระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบอย่างละเอียด โดยผ้าหรืองานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวดสามารถนำลายโบราณของแต่ละท้องถิ่นมาผสมผสานกับผ้าลายพระราชทาน ‘ลายสิริวชิราภรณ์’ ได้ทุกประเภท – ประเภทผ้าลายพระราชทานที่ส่งเข้าประกวด แบ่งเป็น 14 ประเภท ตามเทคนิค/เอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของจังหวัดนั้น ๆ โดยต้องมีองค์ประกอบหลักของลายพระราชทานครบถ้วน รวมถึงประเภทงานหัตถกรรม เช่น งานเซรามิก งานจักสาน ฯลฯ ที่นำลายพระราชทานมาต่อยอดที่มีความโดดเด่น และยอดเยี่ยม

โดยหลักเกณฑ์การให้คะแนน ประกอบด้วย ความกว้างของหน้าผ้าความเรียบร้อยและความสม่ำเสมอของการทอ การใช้สีธรรมชาติให้สีได้เหมาะสมกับลวดลายในผืนผ้า ความชัดเจนของลวดลาย ความสวยงามโดยรวมของผืนผ้า ความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ และบรรจุภัณฑ์ (Packaging) และการนำเสนอการขายผ่าน Storytelling”

รางวัลการประกวดระดับประเทศ รับพระราชทานรางวัลการประกวด “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม เดือนพฤศจิกายน 2567 รางวัลการประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภทรางวัล ดังนี้

ประเภทที่ 1 รางวัลพิเศษ ประกอบด้วย Best of the Best รางวัลชนะเลิศรางวัลเดียวจากในแต่ละประเภท, การใช้สีธรรมชาติยอดเยี่ยม, ลวดลายตามแบบพระราชทาน, ประเภทงานหัตถกรรม และรางวัลอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของชิ้นงาน

ประเภทที่ 2 เหรียญรางวัลพระราชทาน โดยรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 เหรียญทองคำ, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 เหรียญเงิน รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 เหรียญนาก และรางวัลชมเชย  ใบประกาศเกียรติคุณ

ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ในนามตัวแทนคณะทำงาน และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขาอาชีพ อาทิ นักออกแบบ ดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรม ซึ่งได้ร่วมลงพื้นที่ Coaching ให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้า ทั้ง 4 ภาค ทั่วประเทศ กล่าวว่า ด้วยพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่ทรงพระราชทานผ้าลายพระราชทานและพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิคสามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้ ส่งเสริมตามแนวพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ และสนับสนุนให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรม เพื่อพัฒนาและส่งเสริมต่อยอดให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีมาก เพราะทุกรายมีความตั้งใจและได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากในการเรียนรู้ การทำผลิตภัณฑ์ใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *