24 ตุลาคม 2024

‘มหกรรมการค้าด้านการบริการนานาชาติจีน’  ผลประโยชน์ร่วมกันและการแบ่งปันระดับโลก

0

เมื่อวันที่ 12 ถึง 16 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา จีนได้จัดงาน มหกรรมการค้าด้านการบริการนานาชาติจีน หรือ China International Fair for Trade in Services (CIFTIS) ประจำปี 2024 ขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติปักกิ่ง และสวนสาธารณะ Shougang โดยมีแนวทางสำคัญคือ “บริการระดับโลก ผลประโยชน์ร่วมกัน และการแบ่งปัน” ซึ่งเป็นแนวทางที่สะท้อนถึงจุดยืนสมัยใหม่ของจีนในเรื่องของการสร้างมิตรประเทศ และการแบ่งปันประโยชน์ร่วมกัน

ที่สำคัญคือการตอบรับจากประเทศต่างๆ โดยสำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีนระบุว่า งาน CIFTIS ปี 2024 มีประเทศและองค์กรระหว่างประเทศกว่า 80 รายเข้าร่วมออกบูธจัดแสดง ทั้ง Siemens, Google, Amazon, GE Healthcare และบริษัทอื่นๆ ในทำเนียบ Fortune 500 และบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมบริษัท 500 อันดับแรกของโลก และบริษัทแนวหน้าชั้นนำในแขนงงานต่างๆ กว่า 420 ราย เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ การเจรจาและการส่งเสริมการขาย

โดยเฉพาะในส่วนงาน Service Trade Fair  การค้าบริการ ได้มุ่งเน้นไปที่การแสดงประสิทธิภาพการผลิตใหม่ รูปแบบใหม่ รวมถึงรูปแบบธุรกิจใหม่ผสมผสานกับอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ การผลิตระดับไฮเอนด์ และการเกษตรสมัยใหม่ ครอบคลุม AI และเทคโนโลยี Yuanverse, อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม, บิ๊กดาต้าและพลังการประมวลผล, เทคโนโลยีทางการเงิน, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมดิจิทัล, การศึกษาอัจฉริยะ, กีฬาอัจฉริยะ, การก่อสร้างอัจฉริยะ, เทคโนโลยีประหยัดพลังงานและลดคาร์บอน ฯลฯ

ถัง เหวินหง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า มหกรรมการค้าภาคบริการปีนี้ จะมีการจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะของกำลังการผลิตคุณภาพใหม่ และเน้นการค้าภาคบริการมากขึ้น

“จุดโฟกัสของปีนี้คือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น เครือข่ายอินเตอร์เน็ตดาวเทียม บิ๊กดาต้ากับกำลังการคำนวณ คาร์บอนเป็นศูนย์และคาร์บอนต่ำ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการค้าภาคบริการแบบบูรณาการ”ถัง กล่าว

ด้วยเหตุนี้เอง ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า การฟื้นตัวของประเทศต่างๆยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ จนทำให้บรรยากาศการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศของโลกมีความเข้มข้นสูง และในหลายๆกรณี ประเทศคู่ค้าด้านบริการบางประเทศรุนแรงจนมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกัน แต่ปรากฏว่า งาน CIFTIS ประจำปี 2024 กลับยังคงได้รับการยอมรับ และมาร่วมกิจกรรมกันอย่างคึกคัก และส่งผลให้งานมหกรรมการค้าภาคบริการ ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและครอบคลุมมากที่สุดงานหนึ่งของโลก

เหตุผลประการแรก น่าจะเป็นเพราะงาน CIFTIS ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทเชิงรุกของจีนในการทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการค้าภาคบริการและขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สอดรับกับแนวทางของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ที่จีนมุ่งมั่นให้ความสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงพบว่า จากฐานข้อมูลในการจัดงาน CIFTIS นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2555 มหกรรมการค้าภาคบริการนานาชาติจีน สามารถดึงดูดผู้จัดแสดงสินค้าได้มากกว่า 600,000 ราย จาก 196 ประเทศและภูมิภาค

ประการต่อมา บรรดาประเทศต่างๆที่เข้าร่วม น่าจะพิจารณาถึงโอกาสที่จะได้รับจากงานนี้ จึงทำให้มีบริษัทต่างชาติเข้าร่วมงานกันอย่างคึกคัก เพื่อแสวงหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือในภาคบริการของจีน จนทำให้มีผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศจำนวนมาก และมีการจัดกิจกรรมออฟไลน์มากมายกว่า 80 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมงานในปีนี้ ขณะที่มีวิสาหกิจมากกว่า 2,400 รายมีส่วนร่วมในการจัดนิทรรศการออฟไลน์เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ และความสำเร็จของตนเอง

ประการที่สาม มหกรรมการค้าภาคบริการนานาชาติจีนในปีนี้ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมรูปแบบต่าง ๆ โดยมีการสาธิตการใช้เทคโนโลยีชิป ปัญญาประดิษฐ์ และการดูแลสุขภาพดิจิทัลทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีการเปิดตัวเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ภายในงาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจมากมาย ตลอดจนความคึกคักของภาคบริการสู่สายตาประเทศต่างๆทั่วโลก

และประการที่สี่ เนื่องจากนวัตกรรม เทคโนโลยี และพัฒนาการสำหรับสาขาปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) การดูแลสุขภาพ วัฒนธรรม และนวัตกรรม กำลังมาแรงในหลากหลายอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์และบริการที่ขับเคลื่อนด้วย AI ก็รุกคืบเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้นเรื่อยๆ งานมหกรรมการค้าภาคบริการนานาชาติจีนจึงตอบโจทย์และสนับสนุนเทรนด์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี งาน CIFTIS ซึ่งเป็นเสมือนการเปิดเวทีให้มีการทำตลาดเทคโนโลยีในระดับโลกให้ประเทศต่างๆได้รับรู้ จึงเป็นงานใหญ่ที่ได้รับการตอบรับสูง

ในขณะที่ภาคการผลิตของจีนมีความชาญฉลาดมากขึ้น ภาคบริการเองก็กำลังเตรียมพร้อมรับเทรนด์ที่เน้นความรู้ (knowledge-intensive) ซึ่งประกอบด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ความฉลาด และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โอวหยาง ยื่อหุย ผู้ช่วยคณบดีของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตจีน (China Center for Internet Economy Research) แห่งมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการเงิน (Central University of Finance and Economics) ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ภาคบริการของจีนกำลังสร้าง“แรงดึงดูด”ทั่วโลก โดยจากข้อมูลพบว่า ในระหว่างปี 2555-2564 ภาคบริการของจีนใช้เงินลงทุนจากต่างชาติจริงเพิ่มขึ้นจาก 6.027 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.4051 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า และคาดการณ์ว่า ยอดนำเข้าในภาคบริการของจีน จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568

ทั้งนี้ เชื่อกันว่าคาดการณ์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากสถิติของครึ่งแรกของปีนี้ พบว่าขนาดของการค้าภาคบริการของจีนได้สร้างสถิติใหม่ มูลค่าการนำเข้าส่งออกภาคบริการมากถึง 3.6 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว

ในการจัดงาน CIFTIS จึงเป็นการยืนยันว่า จีนได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันยาวนานในการแสวงหานวัตกรรม แรงบันดาลใจ และความปรารถนาที่จะเปิดประเทศในระดับที่สูงขึ้น โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงพาณิชย์จีน เปิดเผยว่า จีนกำลังทบทวนกฎและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการค้าภาคบริการ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในด้านบริการสมัยใหม่ ​​อุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรมต่าง ๆ

อีกทั้ง ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีน ยังระบุว่า การส่งออกบริการดิจิทัลจากประเทศจีนมีมูลค่ามากกว่า 2.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 7.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี และครองอันดับ 5 ของโลก และข้อมูลยังระบุด้วยว่า การค้าภาคบริการที่เน้นความรู้ เติบโต 11.7% ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม คิดเป็น 43.2% ของปริมาณการค้าทั้งหมดของประเทศ

เฉิน เจียนเว่ย รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยธุรกิจระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์ของจีน (University of International Business and Economics) กล่าวว่า การที่การค้าภาคบริการที่เน้นความรู้ครองส่วนแบ่งมากขึ้นนั้น บ่งชี้ว่าโครงสร้างการค้าภาคบริการของจีนดีขึ้นและเหมาะสมมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าบรรดาบริษัทต่างประเทศที่เข้าร่วมงาน ได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทจีนเป็นจำนวนมาก เพื่อกระชับความร่วมมือในด้านการค้าภาคบริการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดจีนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก และยิ่งในอนาคต เมื่อจีนเปิดกว้างภาคบริการและเสริมสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับธุรกิจทั่วโลก และสร้างแรงผลักดันที่ยั่งยืนเพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย จึงไม่ควรที่จะตกขบวนความร่วมมือการค้าด้านการบริการและแบ่งปันโอกาสร่วมกัน

โดย นายภูวนารถ ณ สงขลา
ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว Bangkok Wealth & Biz และ สำนักข่าว บางกอกทูเดย์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *