24 ตุลาคม 2024

1 ม.ค.66 เริ่มใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ ธนารักษ์รับ ประชาชนจ่ายภาษีมากขึ้น

0

นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 นี้ กรมจะออกประกาศบังคับใช้ราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่ประกาศเมื่อปี 2564 โดยใช้ตั้งแต่ปีบัญชี 2566-2569 หลังจากที่ช่วงปี 2563-2565 ที่มีโควิด กรมได้เลื่อนการบังคับใช้ราคาประเมินที่ดินในรอบปีบัญชีใหม่ออกไป และใช้ราคาประเมินที่ดินเดิม ของปี 2559-2562 ตามเดิม โดยราคาประเมินที่ดินรอบใหม่นั้นเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.93% เมื่อเทียบกับปีบัญชีที่ผ่านมา

“หลังกรมจะประกาศใช้ราคาที่ดินในปีรอบใหม่อีกครั้ง ปรากฏว่าประชาชนมีการแบ่งหรือซอย แยกแปลงที่ดินเพิ่ม จากเดิมมีอยู่ 31 ล้านแปลงทั่วประเทศ กลายเป็น 33.4 ล้านแปลง ซึ่งสาเหตุที่มีการแยกแปลงเพราะทำให้เกิดการเสียภาษีลดน้อยลง เช่น แปลงเล็กก็เสียภาษีน้อย หรือไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีเลย เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อมีการแยกแปลงเพิ่ม ทำให้ราคาประเมินมีความคลาดเคลื่อน และราคาเปลี่ยนไป”

นายจำเริญ กล่าวว่า ดังนั้น กรมจึงออกประกาศปรับปรุงราคาที่ดินเพิ่มเติมจากเดิม 31 แปลง เป็น 33.4 ล้านแปลงทั่วประเทศ และมีการปรับเปลี่ยนกว่า 60 จังหวัด หลังจากนี้ คาดว่าหลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยงานท้องถิ่นจะส่งเอกสารไปยังประชาชนที่ครอบครองที่ดินมาชำระภาษีที่ดิน ทั้งนี้ ยังพบปัญหาว่าจากการจัดเก็บภาษีที่ดินในปี 2565 เก็บที่อัตรา 10% รวมทั้งใช้อ้างอิงอัตราจากราคาประเมินปี 2559-2562 แต่ในปี 2566 นี้จะเก็บภาษีที่ดินเต็มอัตรา 100% และยังอ้างอิงจากราคาที่ดินรอบใหม่ จึงทำให้ประชาชนรู้สึกว่าอัตราภาษีเยอะขึ้น

นายจำเริญ ยังกล่าวด้วยว่า กรมจึงทำระบบการคัดค้านขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้ โดยคัดค้านได้ 2 สองกรณี ได้แก่ การประเมินราคาไม่ตรงกับทำเล ที่ตั้ง หรือลักษณะพื้นที่ และกรณีการประเมินราคาของท้องถิ่นผิดเพี้ยนไปจากมาตรฐาน ทั้งนี้ ผู้เสียภาษี ต้องทำการคัดค้านภายใน 90 วัน นับจากวันที่รู้ หรือพึงที่จะรู้เอกสารจัดเก็บภาษีที่ต้องจ่ายในรอบบัญชีนี้ หรือรอบปี 2566-2569

“หากต้องคัดค้านภาษีของปี 2566 จะคัดค้านหลังจากปี 2569 ไม่ได้ เพราะรอบบัญชีนี้ สิ้นสุดปี 2569 แต่ในระหว่างที่ยังอยู่ในรอบ ถ้าผู้เสียภาษีรู้เมื่อไหร่ หรือรู้ และจ่ายภาษีไปแล้วก็ยังสามารถคัดค้านมาได้ ถ้าจ่ายภาษีแล้วและคัดค้านสำเร็จก็จะคืนภาษีให้”

นายจำเริญ กล่าวว่า สำหรับทำเลราคาที่ดินในกรุงเทพฯที่มีราคาสูงสุดในรอบปีบัญชี 2566-2569 นั้น อันดับ 1 คือ ถนนสีลม (ช่วงพระรามที่ 4-นราธิวาสราชนครินทร์) ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดมาตั้งแต่รอบปี 2559-2562 ราคาอยู่ที่ 1,000,000 บาทต่อ ตร.ว. ส่วนที่ขยับเพิ่มมาใหม่คือ ถนนเพลินจิต (ช่วงราชดำริ-ทางพิเศษเฉลิมมหานคร), ถนนพระรามที่ 1 (ช่วงราชดำริ-พญาไท) ถนนวิทยุ (ช่วงพระรามที่ 4-เพลินจิต) และถนนวิทยุ (ช่วงช่วงเพลินจิต-คลองแสนแสบ) ราคาใหม่อยู่ที่ 1,000,000 บาทต่อ ตร.ว.เช่นกัน

รองลงมา คือ ถนนราชดำริ (ช่วงเพลินจิต-คลองแสนแสบ) ราคา 900,000 บาทต่อ ตร.ว. ถนนสาทร (ช่วงพระรามที่ 4-ถนนสุรศักดิ์, ถนนเจริญราษฎร์) ราคา 800,000 บาทต่อ ตร.ว. ถนนสุขุมวิท (ช่วงทางพิเศษเฉลิมมหานคร-แยกอโศกมนตรี) ราคา 750,000 บาทต่อ ตร.ว. และถนนเยาวราช ราคา 700,000 บาทต่อ ตร.ว.

นายจำเริญ กล่าวว่า ส่วนทำเลที่มีการเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ถนนวิทยุ (ช่วงพระรามที่ 4-เพลินจิต) จากเดิมรอบปีบัญชี 2559-2562 ที่อยู่ที่ 500,000 บาทต่อ ตร.ว. เพิ่มขึ้นเป็น 1,000,000 บาทต่อ ตร.ว. หรือ 100% เนื่องจากเป็นถนนย่านเศรษฐกิจที่กำลังกลับมาบูม ขณะที่ราคาที่ดินเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุดใน กทม.คือ เขตห้วยขวาง เพิ่มขึ้น 21.46% เนื่องจากมีรถไฟฟ้าสายสีส้มเพิ่มเข้ามาในพื้นที่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *