24 ตุลาคม 2024

‘ชวน’ มึน ‘ประยุทธ์’ ส่งพ.ร.ก.อุ้มหาย วินาทีสุดท้าย ห่วงสภาล่ม รัฐบาลต้องรับผิดชอบ

0

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์รายการ “คนในข่าว” ทางคลื่นข่าว MCOT NEWS FM 100.5 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึงกรณีที่สภานัดประชุมนัดพิเศษในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ว่า ทราบว่ามีการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว แต่ไม่แน่ใจว่าจะส่งมาหรือไม่ ซึ่งในการกระชุมสภาวันสุดท้ายวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ระหว่างเตรียมอ่านพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม ปรากฏว่า รัฐบาลส่ง พ.ร.ก.มาตอนเวลา 16.15 น. เจ้าหน้าที่ก็รวบรวมแล้วทำรายงานส่งให้ตน ประมาณ 18.00 น. จึงต้องแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ยังอ่านพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมไม่ได้ เนื่องจากมีการเสนอ พ.ร.ก.ดังกล่าวมา ในฐานะของสภาก็ต้องปฏิบัติภารกิจต่อ โดยต้องพิจารณากฎหมายของรัฐบาลที่ส่งมา เมื่อดูวันเวลาแล้ว มีเวลาเหลืออยู่เพียงแค่วันที่ 27 และ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งวันที่ 28 กุมภาพันธ์ คือวันปิดสมัยประชุม ปรากฏว่าฝ่ายวิปหรือฝ่ายผู้ควบคุมเสียงของรัฐบาลแจ้งว่า รัฐบาลสะดวกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ได้แจ้งว่าได้หารือกับทุกฝ่ายแล้วรวมทั้งฝ่ายค้านด้วย เห็นว่าควรจะประชุมสภาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จึงได้นัดประชุมสภาวันที่ 28 ก.พ.

นายชวน กล่าวว่า แม้มีมาตราที่ต้องพิจารณาไม่มาก แต่ว่าแต่ละเรื่องล้วนแล้วทำให้สมาชิกสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้อีกครั้งหนึ่ง ตนได้ยินสมาชิกเขาพูดกัน เพราะจากการที่สมาชิกปรึกหาหรือในที่ประชุมสภา สมาชิกเห็นว่าพ.ร.ก.ขัดต่อรัฐธรรมนญ ซึ่งถ้าเขาเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้สองอย่างคือเข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญแล้วส่งมายังประธานสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นไปตามมาตรา 172 หรือไม่ ซึ่งเข้าใจว่ายังไม่มีใครเข้าชื่อ

“ส่วนจะยื่นหรือไม่คงต้องดูเหตุการณ์ก่อน และโดยหลักแล้วไม่ว่าจะมีการยื่นเรื่องหรือไม่สภาต้องพิจารณาไปตามปกติ แต่ถ้ายื่นมาก่อน เมื่อส่งมาที่ประธานสภา และพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยแล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.ฉบับนี้ก็ยังพิจารณาไม่ได้ แต่สมาชิกปรารภว่าถ้าจะยื่นก็ขออภิปรายก่อน”

กรณีหากฝ่ายค้าน และส.ส.จังหวัดชายแดนใต้ ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉบับนี้ หาก พ.ร.ก.ไม่ผ่านใครต้องรับผิดชอบ นายชวนกล่าวว่า ถ้ากฎหมายไม่ผ่านรัฐาลก็ต้องรับผิดชอบ แต่จะรับผิดชอบเพียงใดก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่บังเอิญเรื่องนี้เป็นเรื่องของตำรวจ ในเรื่องความไม่พร้อม ซึ่งตำรวจนายกฯก็คุมอยู่ ดังนั้นการวิจารณ์ก็คงจะหนักหน่อย จึงแปลกใจเหมือนกันว่าทำไมเพิ่งมาเสนอตอนหลัง แต่ก็ไม่ขอวิจารณ์ อย่างไรก็ตามสมาชิกจะรับไม่รับ พ.ร.ก.ก็ตาม คิดว่าฝ่ายค้านคงมาประชุมแน่ เพราะเขาได้อาศัยเรื่องนี้วิจารณ์ และมีเหตุผลวิจารณ์ ส่วนฝ่ายรัฐบาลนั้น ถ้าพูดตรงนี้ขณะนี้ ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ไม่มีใครสามารถคุมองค์ประชุมได้แล้ว

“ฉะนั้นองค์ประชุมจะครบหรือไม่ครบก็ต้องขึ้นอยู่กับทั้งสภา ถ้าฝ่ายค้านไม่มาก็ยากที่จะครบ ถึงแม้ว่าโดยหน้าที่รัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก ต้องนำองค์ประชุมมาให้ครบ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว ตอนนี้ไม่มีใครใส่ใจกันแล้ว ผมก็สงสารวิป ผู้ควบคุมเสียงก็พยายามทำหน้าที่ไปตามสูตร แต่จริงๆแล้วไม่มีผลอะไรเลยในการทำให้องค์ประชุมครบ เพราะไม่มีใครรับผิดชอบ เมื่อหัวหน้ารัฐบาลไม่ได้เป็น ส.ส. พรรคใหญ่ที่คุมรัฐบาลไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่มีใครอยู่ในที่ประชุม จะหาใครที่ไปควบคุมรับผิดชอบก็ไม่มี ตอนนี้ช่วงปลายสภาอย่างนี้ไม่ค่อยเกิดเหตุ อันนี้ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่น่าศึกษาว่ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ดังนั้น หากองค์ประชุมไม่ครบ สภาก็พิจารณาพ.ร.ก.ไม่ได้ เราก็อ่านพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมเลย”

นายชวน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่รัฐบาล เป็นภาระความรับผิดชอบของรัฐบาล สมมติไม่สามารถพิจารณาจบได้ในสมัยประชุม ถ้าจะให้พิจารณาตามหน้าที่ของรัฐบาลก็ต้องเปิดสมัยวิสามัญ และเปิดสมัยวิสามัญ องค์ประชุมจะครบหรือไม่ก็ยังมีปัญหา เพราะสมัยสามัญแท้ๆ เขายังทำไม่ได้ องค์ประชุมไม่ครบ เพราะพรรครัฐบาลแยกออกไปหลายพรรค ตอนนี้เขายังไม่รู้ว่าใครอยู่พรรคไหน ความรับผิดชอบก็เลยยาก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *