24 ตุลาคม 2024

‘ปริญญา’ ให้แง่คิดคนดีที่อ้างทำเพื่อประชาชน แต่รับเงินหลายทาง ดูเยี่ยงอย่าง ‘อ.ป๋วย ผู้ซื่อสัตย์สุจริต’

0

ในวาระครบรอบ 107 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาชิกขบวนการเสรีไทย ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี พ.ศ.2508 ซึ่งยูเนสโก เคยยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาล (9 มี.ค.2559) นั้น

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อเขียนรำลึกผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยระบุถึงเหตุผลที่ ศ.ดร.ป๋วย เป็นอธิการบดีที่ผู้คนจดจำมากที่สุดว่า ทำไมอาจารย์ป๋วยจึงเป็นอมตะ? ใจความว่า

ข้อเขียนในวาระวันเกิดอาจารย์ป๋วย

อาจารย์ป๋วยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียงแค่ 2 ปี เพราะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้อาจารย์ป๋วยต้องลี้ภัยไปต่างประเทศจวบจนสิ้นอายุขัยในปี 2542

แต่อาจารย์ป๋วยกลับเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ที่คนจดจำมากที่สุด อาจจะไม่เป็นรองอาจารย์ปรีดีซึ่งเป็นผู้ประศาสน์การด้วยซ้ำ เหตุผลสำคัญที่สุดคือความเป็นคนเก่งที่ซื่อสัตย์สุจริต และทำงานให้แก่ส่วนรวมโดยไม่เคยหาประโยชน์ใส่ตนแม้เพียงสักครั้ง ซึ่งก็เหมือนอาจารย์ปรีดี และเป็นคุณงามความดีของอาจารย์ป๋วยมาตั้งแต่ก่อนจะเป็นอธิการบดี

อย่างในตอนที่เป็น ‘ผู้ว่าการธนาคารชาติ’ แล้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เชิญให้มาเป็น ‘คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์’ ในปี 2507 ระเบียบราชการขณะนั้นคือ ถ้ารับตำแหน่ง 2 ที่ จะต้องเลือกรับเงินเดือนตำแหน่งหนึ่งเพียงครึ่งเดียว เงินเดือนผู้ว่าแบงค์ชาติคือ 50,000 บาท ส่วนเงินเดือนคณบดีเศรษฐศาสตร์คือ 8,000 บาท แทนที่จะเลือกรับเงินเดือนคณบดีครึ่งเดียว อาจารย์ป๋วยกลับเลือกรับเงินเดือนผู้ว่าแบงค์ชาติครึ่งเดียว ผลคือทำงานเพิ่มเป็นสองที่แต่ได้เงินเดือนน้อยลง คือจากที่เคยได้ 50,000 บาท เหลือแค่ 33,000 บาท

คนถามอาจารย์ป๋วยว่าทำไมจึงไม่เลือกรับเงินเดือนครึ่งหนึ่งในตำแหน่งคณบดีเศรษฐศาสตร์? อาจารย์ป๋วยตอบว่า “ผมทำงานให้แบงค์ชาติเหลือครึ่งเดียว ผมจะรับเงินเดือนเต็มได้อย่างไร”

แล้วในตอนที่อาจารย์ป๋วยพ้นตำแหน่งผู้ว่าแบงค์ชาติแล้วลาไปทำวิจัยที่เคมบริดจ์ อาจารย์ป๋วยก็ทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัย ขอไม่รับเงินเดือนที่คณะเศรษฐศาสตร์ “เพราะไม่ได้ทำงาน”

นี่แหละคืออาจารย์ป๋วยของชาวธรรมศาสตร์ ข้าราชการผู้ซื่อสัตย์สุจริตที่ไม่เคยคิดหาประโยชน์ใส่ตัว และนี่แหละที่ทำให้ที่ทำให้อาจารย์ป๋วยเป็น ‘อมตะ’ ในวาระที่วันเกิดอาจารย์ป๋วยเวียนมาอีกครั้งในวันที่ 9 มีนาคม ผมจึงขอคารวะอาจารย์ด้วยบทกวีที่ผมแต่งไว้ตอนที่อาจารย์ป๋วยเสีย โดยขอยกมาเฉพาะในท่อนสุดท้ายว่า

“จากไปแล้วแต่จากไปเพียงกายา คุณธรรมสันติประชาไม่อาสัญ ป๋วยจักอยู่คู่ปรีดีที่แดนธรรม์ ไม่มีวันตายจากไปจากใจชน!”

ในยุคสมัยที่มีคนจำนวนไม่น้อยชอบอ้างตนว่าเป็นคนดี หรืออ้างว่าทำเพื่อประชาชน แต่กลับทุจริต มีประโยชน์ทับซ้อน หรือรับเงินเต็มสองสามทาง เราจึงต้องยกย่องและเอาอย่างอาจารย์ป๋วย คือ ทำงานให้ประชาชนโดยไม่แสวงหาประโยชน์ใส่ตน! ขอคารวะอาจารย์ป๋วยครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *