24 ตุลาคม 2024

เลขา(พิการ)ธิการ กสทช.?

0

ร้อนฉ่า ระดับที่เป็นประเด็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ซึ่งทำเอาหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ “กสทช.” แตกโพล๊ะ!

กับกรณีที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.“ทุบโต๊ะ” รวบอำนาจเบ็ดเสร็จในการดำเนินการคัดสรรและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.“แต่เพียงผู้เดียว” ปรับเปลี่ยนกระบวนการสรรหามาเป็นกระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งเอง โดยคำสั่งและความเห็นชอบของประธาน กสทช.แบบ “ม้วนเดียวจบ”

กสทช.ทั้งคณะเป็นได้แค่ “ไม้ประดับแจกัน” เท่านั้น (อย่าสะเออะ)มาตั้งคำถามว่าตนเองมีอำนาจหรือไม่? พร้อมเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนไปวันวาน ยืนยัน และนั่งยัน (หรือจะให้ตีลังกายันก็ยังได้)ว่า การสรรหาเลขาธิการกสทช.นั้นมีกฎหมายเฉพาะตามมาตรา 60,61 ระบุว่า “ประธานมีอำนาจแต่งตั้งและปลดเลขาธิการ กสทช.ได้”

การเลือกเลขาฯกสทช.ทำได้ 2 วิธีคือ คือ เลือกเอง หรือ ให้บอร์ดเลือก ดังนั้นเมื่อเลขาฯมีหน้าที่ทำงานใกล้ชิดประธาน และประธานต้องดูแลสำนักงาน กสทช. ขณะที่บอร์ดที่เหลือไม่ใช่ จึงจำเป็นต้องเลือกคนที่ทำงานกับตนเองได้ “ผมไม่ได้แปลผลตามกฎหมายเอง ถ้าอ่านตามตัวหนังสือ ตอนที่อยู่กันกับบอร์ด 5 คน เราก็ส่งให้อนุกรรมการกฎหมายดูแล้วว่าเหมาะสม ซึ่งอนุฯบอกว่าประธานจะใช้กระบวนการอย่างไรก็ได้ ทั้งเปิดรับสมัคร หรือ เชื้อเชิญ หรือ เลือกใครที่มีคุณสมบัติก็ได้ และให้กรรมการเห็นชอบ ผมไม่ได้กินเอง ชงเอง”

เป็นอันว่า ไม่ว่าจะมีข้อทักท้วงหรือโต้แย้งจาก กสทช.อย่างไร ท่านประธาน กสทช.ของเราก็ยืนยัน และนั่งยัน ว่าจะไม่มีการทบทวนใด ๆ โดยจะเดินหน้าเปิดรับสมัครเร็วที่สุด ใช้กระบวนการเปิดรับสมัคร 14 วัน โดยจะเลือกเองเหลือ 1 คน เสนอบอร์ดให้ความเห็นชอบ (หรือ “รับเบอร์ แสตมป์”เท่านั้น) ซึ่งคาดว่าจะได้ตัวเลขาฯภายในเดือนเม.ย.นี้

ทำเอากระจิบกระจอกข่าวที่นั่งสดับรับฟังอยู่ด้วยต่างก็เงียบงัน ไม่กล้าถามว่า เกิดหากบอร์ด กสทช.“ไม่เห็นชอบ”ล่ะ? เพราะกลัวท่านจะสวนกลับมาว่า “ก็คงจะตั้งอยู่ดี” เพราะเป็นเลขาธิการ(ส่วนตัว)ของประธานว่างั้นเหอะ !

มิน่าหล่ะ! ถึงมีกระแสข่าวสะพัดก่อนหน้า แม้แต่ “อีแจ๋ว” หรือคนขับรถของท่านประธาน ยัง“วี้ดว้ายกระตู้วู้” ยิ้มกริ่มดีใจจนเนื้อเต้นไปตามๆกัน ก็ในเมื่อท่านประธานประกาศยืนยันมีอำนาจ “ชงเอง-ตั้งเอง”เบ็ดเสร็จขนาดนี้ แถมยังยืนยันว่าที่เลขาธิการคนใหม่ต้องเป็นคนที่รู้ใจ ไว้ใจ ถึงจะทำงานร่วมกันได้แบบนี้ ก็มีแต่ “อีแจ๋ว-คนรับใช้ในบ้าน”ของท่านประธานเท่านั้นแหละที่น่าจะมีสิทธิ์ จริงไม่จริง!

ขณะที่ 3 กสทช.ที่ประกอบด้วย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูตรศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ร่วมกันทำหนังสือทักท้วงไปยังประธาน กสทช. ยืนยันไม่รับทราบและไม่เห็นชอบกับมติที่ประชุม กสทช.นัดพิเศษในครั้งนี้ พร้อมร่ายยาว ป็นมติที่ “ไม่ชอบด้วยระเบียบ กสทช. และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553”

โดยยืนยันว่า ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 63 (7) บัญญัติให้เลขาธิการ กสทช. พ้นจากตำแหน่งเมื่อ กสทช. มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดให้ออกจากตำแหน่ง เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

ดังนั้น อำนาจของ ประธาน กสทช. ในการเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. ตามมาตรา 61 จึงเป็นเพียงกระบวนการทางธุรการเท่านั้น ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของประธาน กสทช. ที่จะเป็นผู้เสนอชื่อ แต่งตั้ง และถอดถอนเลขาธิการ กสทช.ได้เอง แต่เป็นอำนาจของ กสทช. “ทั้งคณะ” ประธาน กสทช.เป็นผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งหรือถอดถอนเท่านั้น

ก็ให้น่าแปลก! ทีกับกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง “ทรูและดีแทค” ที่มีปัญหาข้อกฎหมายทำได้หรือไม่ได้อย่างไรนั้น ท่านประธานและ กสทช.กลับอัญเชิญกรณีดังกล่าวแห่แหนไปรอบเมือง ทั้งตั้งอนุกรรมการศึกษาไม่รู้กี่ชุดต่อกี่ชุด จัดเวทีประชาพิจารณ์ โฟกัส กรุ๊ป ไม่รู้จักกี่ครั้ง ยังไม่รวมเวทีคู่ขนานของภาคประชาชนและนักวิชาการมหาวิทยาลัย ว่าจ้างที่ปรึกษาทั้งไทยและต่างประเทศหมดเงินไปไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยล้าน

แม้ถนนทุกสายจะยืนยัน นั่งยันว่า กสทช.มีอำนาจตามตัวบทกฎหมายในการพิจารณาอนุมัติ-ไม่อนุมัติดีลควบรวมกิจการที่ว่านี้ แต่ท่านประธานก็ยังอุตส่าห์สั่งสำนักงาน กสทช.ไปควานหา“จุดโหว่”ที่ไม่อยู่ในกฎหมาย ทำเรื่องไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ร่วมกันควานหาจุดพลังอำนาจ จนออกมาเป็นมติบอร์ดสุด “พิลึกกึกกือ”

“รับทราบ” รายงานการควบรวมธุรกิจ เพราะไม่ถือเป็นการเข้าซื้อหุ้นในบริการประเภทเดียวกันที่เข้าข่ายจะต้องดำเนินการตามประกาศ กสทช.ปี 2549 กสทช.นั้นทำได้เพียงการนำมาตรการเฉพาะตามประกาศ กสทช.ปี2561 มาบังคับใช้เท่านั้น จนก่อให้เกิดข้อวิพากษ์ ที่เรียกแขกให้งานเข้า กสทช.เป็นรายวันจนกระทั่งวันนี้

แต่กับกรณีสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่ถือเป็นตำแหน่งสำคัญขององค์กรนี้ เพราะไม่เพียงจะทำหน้าที่เป็น“แม่บ้าน”ให้บอร์ดกสทช.แล้ว ยังถือเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานกสทช.อีกด้วย นอกจากนี้ เลขาธิการ กสทช.ยังเป็นกรรมการและเลขานุการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ “กองทุน กทปส.” ซึ่งต้องรับผิดชอบงบประมาณเงินกองทุนปีละนับหมื่นล้านด้วยอีก

ดังนั้น ตัวเลขาธิการ กสทช. จึงถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญในสามโลกก็ว่าได้ คนที่จะเข้ามารับหน้าที่นี้จึงต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ประสานสิบทิศได้อย่างแท้จริง

การที่ประธานกสทช.และ กสทช.มีข้อถกเถียงในเรื่องระเบียบข้อบังคับการประชุม รวมไปถึงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง กสทช.คือพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี2553 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)ได้มอบอำนาจเบ็ดเสร็จในการคัดเลือกและแต่งตั้งให้แก่ประธาน กสทช. หรือจะต้องเปิดดำเนินการสรรหาเป็นการทั่วไปนั้น

ก็แล้วทำไมกรณีนี้ท่านประธานจึงไม่คิดจะหารือหรือถามไถ่หน่วยงานใดให้เกิดความกระจ่าง ข้างกายก็ใช่จะไม่มีใคร ยังมีอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช.ที่ล้วนกอปรด้วยมือกฎหมายชั้นบรมครูอยู่เต็มลำเรืออยู่ไม่ใช่หรือ หรือหากจะค้ำถ่อถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่เสียหายแน่ ใช่ว่าท่านประธานจะไม่เคยทำ

ดีกว่ากำถั่วลุยไฟ “ชงเอง-ตั้งเอง” จนสุดท้ายได้ตัวว่าที่เลขาธิการ กสทช.มาแล้ว แต่กลับต้องถูกฟ้องกระบวนการคัดเลือกและสรรหาจนขึ้นโรงขึ้นศาล มันถูกต้องแล้วหรือ? ยิ่งตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.นั้นเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญที่สูงมาก อย่างที่ กสทช.พิรงรองออกมาทักท้วงก่อนหน้านั้น กระบวนการสรรหาหรือคัดเลือกจึงยิ่งควรจะสะท้อนความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมการคัดเลือกด้วยแล้ว

เกิดว่าที่ “เลขาธิการ กสทช.”ที่ท่านประธานเสนอมากลายเป็น “เลขาพิการ”ขึ้นมาจะทำงานได้อย่างไร? จริงไม่จริงท่านประธานที่เคาพ!!!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *