24 ตุลาคม 2024

‘สุชาติ’ ยัน! สภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วโปร่งใส ประธานสภาฯไม่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ

0

นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ชี้แจงกรณีที่มีอดีต ส.ส. ให้สัมภาษณ์พาดพิงถึงการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่าไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีความโปร่งใส โดยเฉพาะเรื่องอำนาจของประธานสภาฯ และนายกฯ ในการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการตรากฎหมายยิ่งกว่าเจตจำนงของ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน ว่า ถือเป็นการกล่าวอ้างที่อาจจะทำให้ผู้ได้รับข้อมูลเกิดความเข้าใจในทางที่เสียหายต่อประธานสภาฯชุดที่แล้ว ทำให้ในฐานะที่เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วจึงจำเป็นที่ต้องออกมาชี้แจง

นายสุชาติ กล่าวถึงประเด็นที่มีการอ้างว่าเป็นประเพณีที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ในสภาจะได้รับตำแหน่งประธานสภาฯนั้น ที่ผ่านมาทุกสมัย ประธานสภาฯจะมาจากการเลือกของ ส.ส.ในสภา ไม่ใช่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นผู้เลือก ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาฯ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางตามกรอบที่รัฐธรรมนูญ จะไปใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองพรรคใดไม่ได้ แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่ประธานสภาฯสังกัดอยู่ก็ตาม

“ส่วนในการพิจารณาร่างประราชบัญญัติต่างๆ ถ้าเป็นร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ เกี่ยวกับการเงิน ก็ต้องให้นายกฯรับรองก่อนจึงจะเสนอได้ การกล่าวอ้างว่าประธานสภาฯและนายกฯมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการตรากฎหมายจึงไม่ถูกต้อง อีกทั้ง ประธานสภาฯไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของ ส.ส. จึงชี้นำการลงมติของ ส.ส.ไม่ได้ และการบรรจุเรื่องต่างๆเข้าระเบียบวาระ ก็ต้องเป็นไปตามลำดับ หรือตามที่วิปซึ่งก็มาจากทุกพรรคส่งตัวแทน ได้ร่วมกันกำหนดและประสานงานงานมา แต่ก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาด้วย” นายสุชาติ ระบุ

นายสุชาติ กล่าวย้ำว่า ประธานสภาฯไม่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกบรรจุตามอำเภอใจได้ รวมทั้งไม่มีสิทธิ์ที่จะเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ที่บรรจุไปแล้วขึ้นมาพิจารณา และแม้แต่การที่จะบรรจุร่าง พ.ร.บ.ของพรรคที่ตนเองสังกัดก็ต้องบรรจุตามลำดับ ประธานสภาฯจึงไม่ได้มีอำนาจหรือบทบาทที่จะชี้นำที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ หรือทำให้ร่าง พ.ร.บ.ใดผ่านหรือตกไป จึงขอชี้แจงว่า สภาผู้แทนราษฎรมีความโปร่งใส มีการทำงานที่เปิดเผยและตรวจสอบได้ เพราะการประชุมสภาจะมีการถ่ายทอดสดทุกครั้ง ทางสถานีวิทยุรัฐสภา คลื่น FM 87.5 เมกะเฮิรตซ์ และถ่ายทอดทางโทรทัศน์รัฐสภา TPTV ช่อง 10 ส่วนการประชุมของคณะกรรมาธิการนั้น จะมีทั้งข้อมูลที่เปิดเผยได้และเปิดเผยไม่ได้ การประชุมใดจะเป็นการลับหรือเป็นการเปิดเผยจึงขึ้นอยู่กับมติของสมาชิกคณะกรรมาธิการนั้นๆ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *