24 ตุลาคม 2024

มติ กกต. 4 ต่อ 1 ทำสังคมไทยอยากรู้จัก กกต.ที่เข้ามายุครัฐบาลประยุทธ์

0

กรณี ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ให้ส่งเรื่องไป ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเนตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ITV จำกัด พร้อมขอสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในทันที กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าของสังคมไทยในทันที

มติของ กกต.ในการให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ไม่ใช่มติที่เป็นเอกฉันท์ แต่เป็นมติ 4 ต่อ 1

นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้ที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับการรีบส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความกังวลต่อที่ประชุมเอาไว้ว่า อาจจะถูกมวลชนมองว่า การกระทำของ กกต.ไม่เหมาะสม ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในช่วงนี้ และควรจะต้องมีสอบประเด็นอื่นเพิ่มเติม

อาทิ ความเป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี ว่านายพิธาเป็นเจ้าของหุ้นจริงหรือไม่ ให้ชัดเจนกว่านี้ แม้ทุกคนจะเห็นตรงกันว่าไอทีวีเป็นธุรกิจสื่อก็ตาม

สำหรับ 5 กกต.ในชุดที่ลงมติ 4 ต่อ 1 ประกอบด้วย
1.นายอิทธิพร บุญประคอง เป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
2.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
3.นายปกรณ์ มหรรณพ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
4.นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
5.นายฐิติเชฏฐ์ นุชนารถ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง

โดย นายปกรณ์ ลงมติไม่เห็นด้วย อยู่เพียงคนเดียว

เส้นทางการทำงานของทั้ง 5 กกต. จึงได้รับความสนใจขึ้นมาในทันที

นายอิทธิพร บุญประคอง เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2499 จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต ธรรมศาสตร์ ปี 2522 นิติศาสตรมหาบัณฑิต Tulane สหรัฐอเมริกา ปี 2527 รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศมาตลอด โดยเคยดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย รองตัวแทนของประเทศไทยในคดีตีความคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าด้วยปราสาทเขาพระวิหาร ปี 2553 เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อ 12 ส.ค. 2561 ยุครัฐบาลประยุทธ์ และอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ เกิดเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2501 จบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตรบัณฑิต (จุลชีววิทยา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2523 วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (จุลชีววิทยาอุตสาหกรรม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2527 จบการศึกษาเกษตรดุษฎีบัณฑิต สาขาเกษตรเคมี จากมหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2533 และจบการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาเอก หรือ Past Doctoral Degree ในสาขาเทคโนโลยียีนในเรื่องการจัดการยีสต์ (Gene Technology on Yeast) จากสถาบันเทคโนโลยีคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2537 โดยที่ประวัติการทำงาน มีประสบการณ์ทำงานเป็นอาจารย์ในสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มาโดยตลอด แต่ได้เข้ามาเป็น กกต.ในยุครัฐบาลประยุทธ์

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ เกิดวันที่ 19 กันยายน 2501 จบการศึกษาวิทยาศาสตรบันฑิต (วิศวกรรมโยธา) จาก Central New England College of Technology สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2523 และจบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2530 และระดับปริญญาโท Master of Business Administration จาก Florida Institute of Technology สหรัฐอเมริกา เริ่มรับราชการเติบโตมาจากสายงานกรมชลประทาน โดยสามารถเติบโตได้ถึงขั้นเคยเป็นอดีตอธิบดีกรมชลประทาน ก่อนที่จะไปเกษียณอายุราชการ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2561 ในตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเช่นกันว่าได้เข้ามาเป็น กกต.ในยุครัฐบาลประยุทธ์

นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาถ เกิดวันที่ 25 ตุลาคม 2501 จบปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2524 จบปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2547 และปริญญาเอก นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยปทุมธานี ปี 2557 เคยผ่านการฝึกหลักสูตรอบรมเพื่อหลักนิติธรรมประชาธิปไตย (นธป.) รุ่น 1 ปี 2556 หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐ เอกชน และการเมือง (วปม.) รุ่น 5 ปี 2556 หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่น 21 ปี 2559 เป็นทนายความและยังเป็นอดีตที่ปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นุรักษ์ มาประณีต)

สำหรับ นายปกรณ์ มหรรณพ ซึ่งมีมติไม่เห็นด้วยในครั้งนี้ เกิดเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2498 จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง จบการศึกษาในระดับปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า มีประสบการณ์การทำงานเป็นรองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 9 ตั้งแต่เดือน ต.ค.2555-มี.ค.2556 รองประธานศาลอุทธรณ์ ตั้งแต่เดือน เม.ย.2556-ก.ย.2556 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา

ต้องถือว่า กกต.ชุดนี้ มีความหลากหลายของความรู้และวิชาชีพอย่างยิ่งจริงๆ แถมยังแสดงอาการรีบร้อน ขยันขันแข็งอย่างผิดปกติจริงๆ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *