24 ตุลาคม 2024

การประชุมสุดยอดขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้

0

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ผู้นำกลุ่มชาติสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization : SCO)  ได้มีการประชุมสุดยอด ครั้งที่ 23 โดยมีอินเดียเป็นเจ้าภาพ ในหัวข้อ “ความมั่นคง SCO ” ผ่านระบบทางไกล

จุดยืนของเจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้ นาย นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ระบุว่า ประเทศต่างๆ ควรให้ความเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน การขยายการเชื่อมโยงและความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อยกระดับความร่วมมือให้ขึ้นสู่ขั้นสูงใหม่ 

ขณะที่ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบทางไกล ได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “จดจำภารกิจเจตนารมณ์แรกเริ่ม แน่วแน่ในความสามัคคีประสานงาน เพื่อการพัฒนาที่ใหญ่กว่า” โดยยังคงเน้นย้ำถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และความร่วมมือกันของ SCO พร้อมทั้งขอให้ผู้นำในภูมิภาคร่วมกันต่อต้านการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอก

ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนมีจุดยืนในการกระตุ้นความร่วมมือจากประเทศต่างๆ เพื่อสร้างสันติภาพให้กับมวลหมู่มนุษยชาติมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในการประชุม SCO ครั้งนี้ จึงถูกจับตามองว่าจะสามารถผลักดันความร่วมมือได้เพียงใด ขณะที่สถานการณ์โลก โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย กับ ยูเครน ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ก่อนการประชุมในครั้งนี้ราว 2 สัปดาห์ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ และได้มีการประกาศร่วมกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ว่าทั้ง 2 ประเทศเป็น “หนึ่งในหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกันที่สุดในโลก”

ท่าทีดังกล่าวทำให้เป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตามอง เนื่องจากสหรัฐอเมริกา และประเทศยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มนาโต้ ถูกกล่าวหาว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้การสนับสนุนยูเครนในการเผชิญหน้ากับรัสเชีย ซึ่งในการประชุม SCO ในครั้งนี้ นายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมด้วย ก็ยังคงยืนยันว่า รัสเซียสามารถต่อต้านแรงกดดัน การคว่ำบาตรและการยั่วยุต่างๆ โดยเฉพาะเป็นการใช้มาตรการคว่ำบาตรที่ผิดกฎหมายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องดี เพราะ ประธานาธิบดีปูติน ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า  SCO จะยังคงยึดมั่นสร้างระเบียบโลกหลายขั้วที่ยุติธรรมภายใต้การประสานงานของสหประชาชาติ

แถลงการณ์ขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ในการประชุมครั้งนี้ จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากว่าจะมีทิศทางอย่างใด ซึ่งแถลงการณ์ที่สรุปและเผยแพร่ออกมาในแนวทางที่เป็นการยืนยันถึงการกระชับความร่วมมืออย่างกว้างลึกกับทุกประเทศ คัดค้านการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศผ่านการเผชิญหน้า

ใจความของคำแถลงร่วมภายหลังการประชุม ระบุว่า รัฐสมาชิก SCO คัดค้านการใช้แนวทางเผชิญหน้าแก้ไขปัญหาและประเด็นความมั่นคงต่างๆ และวิจารณ์ผลกระทบจาก “การแผ่ขยายระบบป้องกันขีปนาวุธฝ่ายเดียวแบบไร้การควบคุม โดยบางประเทศหรือกลุ่มประเทศ” โดยไม่ได้เอ่ยตรงๆ ว่าหมายถึงองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และการที่ชาติตะวันตกสนับสนุนอาวุธให้ยูเครน

บรรดาผู้นำ SCO ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน โดยย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้อง “สร้างรัฐบาลที่หลอมรวมทุกฝ่าย โดยเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากทุกเชื้อชาติ ศาสนา และกลุ่มการเมืองในสังคมอัฟกันได้เข้าไปมีส่วนร่วม”

อย่างไรก็ตาม ทุกชาติ ยกเว้น “อินเดีย” ยังประกาศสนับสนุนโครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งมีเป้าหมายในการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมเก่าเชื่อมจีนเข้ากับเอเชีย ยุโรป และภูมิภาคอื่นๆ ด้วยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

ขณะที่ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เรียกร้องให้ชาติสมาชิก SCO ยกระดับการแลกเปลี่ยน ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงร่วม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

“เราจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ในภาพรวมระยะยาวของภูมิภาค และกำหนดนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังความพยายามจากภายนอกที่จะปลุกปั่นให้เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ หรือการเผชิญหน้าแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในภูมิภาคของเรา” ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ระบุ

อีกทั้ง ประธานาธิบดีสี และ ประธานาธิบดีปูติน ยังได้มีการเรียกร้องให้ประเทศต่างๆมีการเปลี่ยนไปสู่ระบบการค้าขายด้วยสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ และหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่มีขึ้นหลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

จึงทำให้เกิดคำถามว่า ด้วยบทบาทของ SCO จะสามารถสร้างความร่วมมือและผลักดันให้ชาติสมาชิกเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้เพียงใด

SCO เป็นกลุ่มความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงที่ก่อตั้งขึ้นโดย จีน และ รัสเซีย เมื่อปี 2001 และมีชาติสมาชิก ประกอบด้วย อินเดีย ปากีสถาน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน โดยมี อิหร่าน เข้าเป็นสมาชิกล่าสุด นับประเทศที่ 9 ของ SCO หลังจากที่ประธานาธิบดี เอบราฮิม ไรซี ตัดสินใจนำประเทศเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือนี้ ขณะที่ “เบลารุส” ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจซึ่งจะนำไปสู่การได้รับสมาชิกภาพภายในปี 2024

นั่นหมายความว่า ด้วยระยะเวลา 22 ปี SCO เติบโตเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ภูมิศาสตร์และจำนวนประชากร เนื่องจากครอบคลุมพื้นที่ภูมิภาคยูเรเซียประมาณร้อยละ 60 มีประชากรร้อยละ 40 ของประชากรโลก และมีจีดีพีรวมกันประมาณร้อยละ 30 ของจีดีพีโลก

ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบีย ได้มีมติรับรองบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการให้ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศคู่เจรจาของ SCO แล้ว หลังจากที่ได้มีการพบหารือระหว่าง เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดีอาระเบีย กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่า การมีสถานะเป็นคู่เจรจาถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ก่อนการเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ

บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ ล้วนมองตรงกันว่า เวทีขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO เป็นเวทีที่สามารถสะท้อนบทบาทของจีนในการก้าวขึ้นสู่การเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำโลกที่มีอิทธิพลได้ในอนาคต โดยเฉพาะในการประชุมภายใต้สถานการณ์โลกที่มีภาวะกดดันสูงในช่วง 3-4 ปีมานี้ จีน โดย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ยืนยันตลอดมาว่า แนวปฏิบัติของ SCO คือ ความไว้วางใจทางการเมือง ความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน ความเสมอภาค การเปิดกว้างและความครอบคลุมทั่วถึง ความถูกต้องและความยุติธรรม

ด้วยหลักการนี้จึงทำให้บทบาทของจีนใน SCO ได้รับการยอมรับ และทำให้ SCO เป็นกลุ่มความร่วมมือระดับโลกที่กำลังเป็นแบบอย่างในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ ในการพัฒนาสันติภาพและความรุ่งเรืองในภูมิภาคยูเรเซียและภูมิภาคอื่น

ภูวนารถ ณ สงขลา
นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

บรรณาธิการบริหาร
สำนักข่าวบางกอกทูเดย์ออนไลน์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *