24 ตุลาคม 2024

‘ไอติม พริษฐ์’ ชื่นใจ แคมเปญ #conforall สะท้อนประชาชนตื่นตัว ต้องการ‘รธน.ใหม่’

0

วันที่ 25 สิงหาคม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทวีตข้อความเผยถึงเรื่อง ก้าวไกลเตรียมเสนอให้สภาถกเรื่องคำถามประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในการประชุมสภาครั้งถัดไป โดยระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ติดตามการระดมรายชื่อของภาคประชาชนเรื่องการเสนอให้จัดทำประชามติเพื่อเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้แคมเปญ #conforall ด้วยความรู้สึกชื่นใจถึงความตื่นตัวของประชาชนที่อยากเห็นเรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อคืนความปกติให้การเมืองไทย (ลงชื่อได้ตามรายละเอียดใน http://conforall.com)

ผมเชื่อว่าภาคประชาชนที่เข้าชื่อและพรรคก้าวไกลเรามีความเชื่อร่วมกัน ว่าหากเราต้องการให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญที่แก้วิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมาและสะท้อนฉันทามติใหม่ของสังคมได้ เป้าหมายที่สำคัญต้องไม่ใช่เพียงแค่การมี “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” แต่ต้องเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทั้งกระบวนการและเนื้อหา”

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว พรรคก้าวไกลจึงมองว่า 2 หลักการที่เราจำเป็นต้องยืนยันตั้งแต่วันแรกคือ :

(1)ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ-เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่ไม่กี่มาตราที่การแก้ไขรายมาตราเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอ แต่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตยด้านที่มา-กระบวนการ และมีปัญหาเชิงเนื้อหาสาระในหลายมาตราที่มีลักษณะพัวพันกัน (เช่น อำนาจและที่มาของวุฒิสภา อำนาจและที่มาองค์กรอิสระ ช่องโหว่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ)

(2)ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้ง 100% เพื่อให้ ส.ส.ร. ที่จะมาร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ถูกผูกขาดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ประกอบด้วยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเป็นตัวแทนของทุกชุดความคิดที่มีอยู่ในสังคม

ดังนั้น การออกแบบคำถามสำหรับประชามติครั้งที่หนึ่งที่ครอบคลุม 2 หลักการนี้ จึงเป็นเสมือน “กระดุมเม็ดแรก” ที่เราต้องติดให้ถูกตั้งแต่ต้น มิเช่นนั้นกระบวนการที่ตามมาจะเสี่ยงเป็นการนำพาประเทศไปสู่การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ยังขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทั้งกระบวนการและเนื้อหา

ผมดีใจที่คุณเศรษฐาให้สัมภาษณ์เมื่อเช้าวันนี้ ว่าพร้อมรวบรวมข้อมูลและรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องประชามติดังกล่าว-ผมจึงขอเสนอ 2 กลไกที่จะช่วยให้ นายกฯเศรษฐา และ ครม.ได้รวบรวมและรับฟังทุกข้อเสนอเพื่อประกอบการตัดสินใจ

(1)การพิจารณาข้อเสนอเรื่องคำถามประชามติ ของภาคประชาชน
–เมื่อภาคประชาชนรวมรวบรายชื่อครบ 50,000 ชื่อ ตาม พ.ร.บ.ประชามติ 2564 มาตรา 9(5) (ซึ่งคาดว่าจะครบวันนี้) และผ่านการตรวจรายชื่อเรียบร้อยแล้ว ครม. จะต้องมีการเชิญตัวแทนภาคประชาชนดังกล่าวมาชี้แจงข้อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ ครม. พิจารณาและตัดสินใจ
–ผมหวังว่า ครม. จะเปิดโอกาสใหัการพูดคุยดังกล่าวได้เกิดขึ้น ก่อน ครม. จะมีการตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง (ยิ่งหาก ครม. จะตัดสินใจจัดประชามติด้วยคำถามที่แตกต่างออกไป)

(2)การพิจารณาข้อเสนอเรื่องคำถามประชามติ ผ่านกลไกสภา
–ตอนนี้ ญัตติที่พรรคก้าวไกลเสนอเรื่องคำถามประชามติ ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผมตั้งใจจะเสนอให้มีการเลื่อนญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งถัดไป (พุธ 30 ส.ค.)
– ผมหวังว่า ส.ส. จากพรรครัฐบาลของคุณเศรษฐา จะเห็นชอบให้มีการพิจารณาประเด็นดังกล่าวในที่ประชุมสภาสัปดาห์หน้า เพื่อให้ ครม. ได้รับฟังความเห็นจากผู้แทนราษฎรทุกพรรค (ซึ่งล้วนเป็นตัวแทนของชุดความคิดที่แตกต่างในสังคม) ก่อน ครม. จะมีการตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง (ยิ่งหาก ครม. จะตัดสินใจจัดประชามติด้วยคำถามที่แตกต่างออกไป)

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่านายกฯเศรษฐา จะพร้อมสนับสนุนการเปิดพื้นที่ผ่าน 2 กลไกดังกล่าว เพื่อให้ ครม. ได้รับฟังความเห็นที่ครบถ้วนหลากหลาย จากทั้งภาคประชาชนและผู้แทนราษฎรทุกพรรค เกี่ยวกับวาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตการเมืองไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *