24 ตุลาคม 2024

‘อิศเรศ’ ชี้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องดี ส่วนแจกเงินดิจิทัล ควรรัดกุมและมุ่งเป้า

0

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ได้โพสต์เกี่ยวกับประเด็นนโยบายแจกเงินดิจิทัล บาท ของรัฐบาล ที่เป็นประเด็นซึ่งสังคมให้ความสนใจอย่างมาก มีใจความว่า ทางออกของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มการบริโภค จากนโยบาย Digital Wallet 10,000 บาท

ผมขออนุญาตแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ดังนี้ครับ

1) ถือเป็นนโยบายที่ดีของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการบริโภคของประชาชน ที่กำลังลำบากอย่างยิ่งจากวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ขั้นต่ำ, ปานกลาง,แรงงาน, กลุ่มเปราะบางประเภทต่างๆ และ คนตกงาน

2) การเลือกใช้เงิน Digital คือการควบคุมประเภทของการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล (สินค้า หรือ บริการ ที่จำเป็นในการครองชีพ) และให้เงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในระบบ Block chain ตลอดเวลา 6 เดือน ของโครงการ

ที่สำคัญคือ ทำอย่างไร ให้เงินหมุนเวียน และกระจายสู่ท้องถิ่น และ SMEs มากที่สุด และไม่กระจุกตัวในสินค้า และช่องทางการตลาดที่ผูกขาดของทุนใหญ่มากเกินไป

3) เศรษฐกิจในประเทศของเราในวันนี้ ต้องยอมรับว่า ฝืดเคืองอย่างยิ่ง

เราต้องการการกระตุ้นการบริโภคเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ

3.1 ฝั่ง Demand ; ดูจาก % หนี้ครัวเรือน ต่อ GDP ที่สูงถึง 91% (ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ )
ใครมองปัญหาไม่ออก อยากให้ท่านลองคุยกับ ลูกน้องในองค์กรของท่านดูก็ได้ครับ

3.2 ฝั่ง Supply ; ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ จากการส่งออกที่ชะลอตัว, สินค้าราคาถูกนำเข้า ไร้มาตรฐานแทรกแซงตลาดในประเทศ, ความผันผวนของราคาพลังงานโลก และ ล่าสุดการเร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยอ้างเหตุผลสกัดเงินเฟ้อในอนาคต?

4) วินัยการคลัง, ผลกระทบเรื่องภาวะเงินเฟ้อ, ความคุ้มค่าของโครงการนี้ คือสิ่งที่เรา และ กูรู ทั้งปวง ควรต้องช่วยกันเสนอแนะทางออกที่ดี อย่างสร้างสรรค์เพื่อเป็นการเดินหน้าเศรษฐกิจประเทศไทย ไม่ใช่อยู่ภายใต้การสร้างความหวาดกลัวจนเกินจริงไหมครับ ?

ที่ผ่านมา และจากนี้ไป ประชาชนส่วนใหญ่ก็อยากให้กูรูทั้งหลาย จะได้กรุณาให้ความเห็นต่อการใช้เงินของภาครัฐที่อาจมีความสุ่มเสี่ยง และไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ อย่างเหมาะสมนะครับ

ท้ายนี้ ในความเห็นส่วนตัว ผมขออนุญาตเสนอแนะรัฐบาล เพื่อเดินหน้าโครง Digital wallet ดังนี้ ครับ

1) ทบทวนกลุ่มเป้าหมาย แบบ “พุ่งเป้า” ควรเน้นเฉพาะคนที่ลำบาก เดือดร้อน และเห็นความสำคัญของการใช้เงิน 10,000 บาทนี้จริงๆ

ทั้งนี้ เราจะได้มีงบประมาณไปใช้ในโครงการเร่งด่วนอื่นๆ เช่น ปัญหาภัยแล้ง ตามที่ภาครัฐ ก็ให้ความสำคัญ ลงพื้นที่ รับทราบปัญหาตลอดมา

2) บริหารโครงการให้มีความโปร่งใสและรัดกุมที่สุด ใช้เงินอย่างคุ้มค่าในทุกบาททุกสตางค์ ด้วยจำนวนเม็ดเงินจำนวนมากหลายแสนล้านบาท

3) ติดตามผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และสื่อสารนำเสนอให้สังคมรับทราบเพื่อเป็นการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการ

ลดการโต้ตอบแบบนักการเมืองใดๆ

ผมปรารถนาที่จะให้ประเทศไทยได้ร่วมกันฝ่าฟันปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ครั้งนี้ให้ผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยการใช้พลังบวก ลดการโต้ตอบทางการเมืองซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมประเทศไปมากกว่านี้นะครับ

ที่มา : https://www.facebook.com/isares.rattanadilok/posts/1438100060083250

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *