24 ตุลาคม 2024

‘รวยก่อนแก่’ ด้วย Savings Day ‘ลองเป็นวัยรุ่นนักลงทุน-ออมเงิน’ กิจกรรมเติมความรู้ โดย DPU CORE

0

“เก็บก่อนจ่าย-จ่ายง่ายจ่ายยาก-รอให้เป็น” กุญแจความสำเร็จปลดล็อก “แก่ก่อนรวย” ของฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน (DPU CORE) ที่ร่วมกับกองทุนการออมแห่งชาติ และธนาคารออมสิน จัดกิจกรรม Savings Day “ลองเป็นวัยรุ่นนักลงทุน-ออมเงิน” เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องการลงทุนและส่งเสริมเรื่องการออมที่เหมาะสมกับช่วงวัยรุ่น ณ ลานกิจกรรมใต้อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เมื่อวันที่ 27-28 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวถึง กิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องการลงทุนและส่งเสริมเรื่องการออม พร้อมกับสร้างความตระหนักรู้ให้เห็นความสำคัญของการลงทุนและการออม และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาได้รู้จักผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะกับตัวเอง เนื่องจากประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมแห่งผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ โดยที่ส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมไว้เลี้ยงชีพที่เพียงพอ (จากรายงานสถิติเงินฝากของธนาคารแห่งประเทศไทยในส่วนธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียน ช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. 2565 จำนวน120.83 ล้านบัญชี พบว่า 83% มีฐานเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท) ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาด้านอุปโภคบริโภคเพราะกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอจับจ่าย รวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากโดยเฉพาะการรักษาโรคยามเจ็บป่วย

“เราจะได้ยินคำว่า “แก่ก่อนรวย” บ่อยขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และเมื่อประกอบกับคนรุ่นใหม่ไม่นิยมมีลูก ฉะนั้นเมื่อถึงช่วงเกษียณอีก 20-30 ปี ไม่มีคนมาดูแล เราก็จะต้องเตรียมพร้อมเงินเก็บก่อนเกษียณ ต้องรีบออม ไม่อย่างนั้นในอนาคตไม่มีเงินเลี้ยงดูตัวเอง ซึ่งในกิจกรรม Savings Day สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับที่นอกจากการสร้างการรับรู้และความสำคัญของการลงทุนและส่งเสริมเรื่องการออม ก็จะรู้จักผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะกับตัวเองเพื่อออมเงินสำหรับอนาคต”

กำเนิดเศรษฐีวัยเยาว์

หลังการคำนึงถึงอนาคตและเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่นำไปสู่การใช้ได้จริงในชีวิต ผศ.ไพรินทร์ จึงได้จัดงานกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้นมาโดยร่วมกับ ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ หน่วยงานภาครัฐที่จะมาบรรยายให้ความรู้แนะนำเรื่องการออมและแนะนำผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินหลังอายุ 60 ปี เพียงสมัครสมาชิกและออมขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 50 บาทต่อเดือน สูงสุด 30,000 บาทต่อปี นักศึกษาจะได้รับเงินสมทบโดยรัฐรวมกันทั้งปีไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี โดยแบ่งตามช่วงอายุของสมาชิก ได้แก่ 15-30 ปี รับเงินสมทบ 50%, 30-50 ปี รับเงินสมทบ 80%, 50-60 ปี รับเงินสมทบ100%

สำหรับนักศึกษาที่เป็นสมาชิก กอช. เมื่อได้เข้าทำงานในระบบเป็นข้าราชการหรือพนักงานประจำของเอกชน ซึ่งจะได้รับสวัสดิการด้านบำนาญในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หรือเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาชิกสามารถดำเนินการได้ 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 : ส่งเงินออมสะสมกับ กอช. ต่อ เมื่ออายุ 60 ปี สมาชิกจะได้รับเงิน 2 แบบ คือ 1.เงินออมสะสมที่สมาชิกส่งออมเข้า กอช. ขณะอยู่นอกระบบ ไม่มีสวัสดิการ จะได้รับเป็นเงินบำนาญรายเดือน 2. เงินออมสะสมที่สมาชิกส่งออมเข้า กอช. ขณะอยู่ในระบบราชการหรือประกันสังคม จะได้รับเป็นเงินก้อนเดียว

กรณีที่ 2 : ไม่ส่งเงินออมสะสมต่อ เมื่ออายุ 60 ปี สมาชิกจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน

“หมายความว่าเพิ่มรายรับเงินออมอีก 1 ช่องทางหลังเกษียณ ตอนเรียนจบเราอยากทำงานฟรีแลนซ์หรือทำธุรกิจส่วนตัว เราออมตรงนี้จนอายุ 60 ปี รับเงินเกษียณเป็นบำนาญ 2 พันกว่าบาท ยอดเงินสะสม 4 แสนกว่าๆ ข้อมูลจากในแผ่นพับที่ระบุอัตราตอบแทนร้อยละ 2.5 ต่อปี ส่วนถ้าเสียชีวิตก่อน 80 ปี ทายาทได้เงินก้อนทันที ขณะที่ถ้าเราเข้าทำงานประจำหรือข้าราชการมีประกันสังคม เราจะจ่ายตรงนี้ต่อหรือไม่จ่ายก็ได้ แต่ยังเป็นสมาชิกกินดอกเบี้ยที่ดีกว่าฝากออมธรรมดาและพอเกษียณบำนาญเหมือนกัน คือเป็นหลักประกันซึ่งเราสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่วันนี้”

ต่อยอดเงินด้วยการลงทุนตั้งแต่วันนี้

และเพื่อประสิทธิภาพและสร้างคุณลักษณะนิสัยการออมซึ่งจะนำพาไปสู่การลงทุนเพิ่มมูลค่าอย่างเหมาะสม ผศ.ไพรินทร์ จึงได้ประสานร่วมมือกับ ‘ธนาคารออมสิน’ ที่จะเน้นย้ำให้ความรู้แนะนำเรื่องการลงทุนที่เหมาะสมกับช่วงวัยอายุและศักยภาพ ที่เปรียบเสมือนประตูด่านแรกสู่ ‘ความมั่นคง’ โดย สลากออมสินพิเศษ อายุ 1 ปี (Youth Salak) ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการออมและลงทุนของเยาวชนตั้งแต่ 7-22 ปี ซึ่งเริ่มต้นแค่หน่วยละ 20 บาท เพื่อลุ้นรางวัลพิเศษกว่า 300 รางวัล แบบไม่กำหนดงวดและหมวด รวมมูลค่ากว่า 9,000,000 ล้านบาท ในทุกวันที่ 16 ของเดือน

“ทั้งหมดเพื่อให้เกิดการกระตุ้นให้เด็กๆ เริ่มออมตั้งแต่วันนี้ จะมากจะน้อยอยากให้นักศึกษาได้หัดออมเงิน เพราะวินัยทางการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญ ต่อให้มันไม่เกี่ยวกับการสร้างเงินแต่มันคือตัวแปรพาให้เรามีมุมมองด้านการลงทุน เนื่องจากการลงทุนมีรูปแบบที่เหมาะสมแต่ละคนและแต่ละช่วงอายุที่ไม่เหมือนกัน โดยแบ่งนักลงทุนง่ายๆ เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.ผู้มีเงินก้อน ลงทุนได้ก้อนใหญ่ ถ้าเรามีเงินก้อนใหญ่เราลงทุนผลตอบแทนสูงอยู่แล้วพวกนี้ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน รับความเสี่ยงได้

2.ผู้มีเงินไม่ได้มากแต่อยากลงทุนที่ผลตอบแทนสูง อันนี้เสี่ยง เช่น นักศึกษาและคนทำงานวัยต้นๆ ที่เราต้องให้ความรู้เยอะๆ ไม่อย่างนั้น อาจจะไปลงกับทางพนันออนไลน์ก็จะแย่ เหมือนที่เห็นกันในข่าวมากมายในปัจจุบัน

3. ผู้มีเงินน้อยและค่อยๆ ลงทุน กลุ่มนี้จะเน้นฝากธนาคารที่ความเสี่ยงต่ำ ฝากประจำดอกเบี้ยสูงกว่าหน่อยหนึ่ง ก็ไม่ค่อยมีปัญหา”

“โดยกลุ่มประเภทที่ 2 นี้ที่น่าเป็นห่วงที่สุด ที่เราต้องให้ความรู้ความเข้าใจแบบในวันนี้ ว่าไม่มีการลงทุนเงินน้อยแล้วผลตอบรับสูงโดยที่ไม่มีความเสี่ยง ฉะนั้นถ้าอยากได้เงินแน่ๆ แถมได้ลุ้นด้วย ก็อาจจะลงกับกลุ่มสลากออมสิน ได้ลุ้นรางวัล เงินก็ยังอยู่ แม้เสี่ยงที่จะไม่ถูกรางวัล แต่ยังเงินได้คืนและหากได้ที ก็ได้เยอะเหมือนกัน” ผศ.ไพรินทร์ ระบุ

เก็บก่อนจ่าย-จ่ายง่ายจ่ายยาก-รอให้เป็น

ทั้งนี้อย่างไรก็ตามทั้งหมดทั้งมวลจะไม่เกิดขึ้นได้หากปราศจาก ‘กุญแจแห่งความสำเร็จ’ ที่จะนำไปสู่การเริ่มต้นขั้นตอนที่ 1 และ 2 ก่อนหน้านี้ได้ ถ้าไม่ฝึกฝนวินัย โดยเทคนิคง่ายๆ สำหรับ ผศ.ไพรินทร์ แนะนำเป็นแนวทางทั้งหมด 3 ข้อ

1.เก็บก่อนจ่าย : ได้เงินมาเท่าไหร่ตัดแบ่งก่อนเลย 10% ตัวอย่างเช่น สมมุติได้เงินมา 100 บาท ให้หักเก็บออมในทันที 10 บาท ซึ่งจะช่วยให้เราฝึกนิสัยเรื่องการออม และเมื่อทำเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่จะส่งให้เห็นค่าของเงิน

2.เก็บง่ายและจ่ายยาก : ในทุกครั้งที่อยากได้สินค้าเพื่อเป็นของขวัญ-รางวัลแก่ตัวเอง ให้เราวนดูสินค้านั้นๆ จำนวน 4 ครั้ง เพื่อทบทวนกระบวนการคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ไม่ใช่แค่อารมณ์ ซึ่งผลลัพธ์ของการฝึกที่ดูง่ายๆ จะนำมาซึ่ง ‘ความอดทน’ ซึ่งสิ่งสำคัญสุดท้าย

3.รอให้เป็น : เป็นข้อที่ยากและท้าทายแต่สามารถสร้างทักษะนี้ได้ โดยให้คิดเสมอว่า ‘ความสุข’ มีอยู่ในทุกขณะของจังหวะชีวิต ดังนั้นควรที่จะรอแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ถูกหวยแทนที่ทันทีที่ขึ้นเงินรีบไปซื้อของที่อยากได้ในทันที แต่พยายามอดทนรอและแบ่งเก็บเผื่ออนาคตสำหรับใช้สอยด้วย

“ฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน DPU CORE เราพยายามเชื่อมโยงน้องๆ ที่อยู่ในวัยเรียนวัยนักศึกษาให้ได้ตระหนักคิดเรื่องเงินตั้งแต่ตอนนี้ เพราะไม่ว่าทำอะไรก็ต้องมีเงินเป็นปัจจัยร่วมสำคัญในการดำเนินชีวิต ดังนั้นมีน้อยออมน้อยและยิ่งออมก่อนก็รวยก่อนอย่างที่เรารู้กัน และเมื่อนักศึกษาเข้าใจและสามารถนำตรงนี้ไปพัฒนาชีวิตตัวเองให้ดีและมั่นคงได้ในทุกเรื่อง” ผศ.ไพรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย ผลลัพธ์ที่ไม่เพียงสร้างคุณค่าให้กับชีวิตของนักศึกษา ทว่าเรื่องนี้ยังเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development หรือ (SDGs) ซึ่งเป็นวาระร่วมของโลก ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และประเทศไทย รวมไปถึงทั่วโลกพยายามมุ่งเน้นปลูกฝัง ให้เกิดการผลักดันช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเข้าใจและบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2030

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *