24 ตุลาคม 2024

นายกรัฐมนตรีไทยเยือนจีน สะท้อนภาพ Win-Win

0

โดย ภูวนารถ ณ สงขลา
ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวบางกอกทูเดย์ออนไลน์ และ สำนักข่าว Bangkok Wealth & Biz

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย โดยที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความอ่อนไหว บทบาทในการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ จึงจำเป็นยิ่ง ทั้งในรูปแบบทวิภาคี และพหุภาคี

ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นหนึ่งในมิตรประเทศที่ดียิ่งของไทยมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา จึงได้เดินทางไปเยือนจีน เพื่อร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 ตามคำเชิญของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดี สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งเป็นการเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน

การเข้าร่วมประชุม BRF ในโอกาสที่โครงการข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครบรอบ 10 ปี  ถือเป็นโอกาสที่ดีของไทย เพราะได้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนจีน และทั่วโลก ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย จึงไม่แปลกที่การไปเยือนจีนของนายเศรษฐาครั้งนี้ มีภาคเอกชนไทย 50 ราย จากกว่า 20 บริษัท เดินทางไปเยือนจีน เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน ด้วยเช่นกัน  ซึ่งนายเศรษฐาได้มีการรับฟังความเห็นจากกลุ่มนักธุรกิจไทยด้วยตนเอง เพื่อเป็นข้อมูลในการหารือ ไม่ว่าจะเป็นการพบปะกับนายหลี่ เฉียง และการพบปะกับนายสี จิ้นผิง

นายเศรษฐา ยังได้ร่วมหารือกับนายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจีนครบรอบ 74 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรเพิ่มความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

และ นายเศรษฐา ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำ โดยนายสี จิ้นผิง และภริยา เป็นเจ้าภาพ ณ มหาศาลาประชาชน ดูจะเป็นการยืนยันได้ดีถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศ

ในการประชุม High-Level Forum หัวข้อ Green Silk Road for Harmony with Nature” นายเศรษฐาระบุว่า 10 ปี ของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) จะเป็นกลไกสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน การประชุม BRF ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และพร้อมทำงานร่วมกับจีนภายใต้ BRI ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะส่งผลต่อการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน

สำหรับการหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง นั้น ทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันสานต่อความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทย-จีน ซึ่งเป็นมิตรแท้ร่วมกันมายาวนาน โดยเห็นพ้องเรื่องการแลกเปลี่ยนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ

ซึ่งนายกรัฐมนตรีจีน ได้เน้นย้ำเจตนารมณ์ในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย – จีน เพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันโดยเฉพาะความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการค้า การลงทุน ความเชื่อมโยงทั้งโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทาน เพื่อร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านท่องเที่ยว ด้านความมั่นคง ด้านวัฒนธรรม และความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ซึ่งจีนยินดีสนับสนุน โดยเฉพาะกรอบ ASEAN-จีน และ MLC เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองต่อภูมิภาคและโลก

สำหรับการหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีขึ้นในวันที่ 19 ต.ค. 2566 ณ East Hall มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง โดยนายเศรษฐา ได้กล่าวขอบคุณการต้อนรับที่อบอุ่นในการเข้าร่วมการประชุม  BRF ครั้งที่ 3 และยินดีต่อวาระครบรอบ 10 ปี ของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง

บทสรุปของการหารือกัน ทั้งนายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีจีน ต่างยืนยันสานต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่มีมายาวนาน ดังที่ว่า  “จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” และเน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเน้นย้ำวาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2568 ด้วย

ประเด็นสำคัญในการหารือ คือ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายยินดีร่วมมือกันเสริมสร้างความพร้อมในการรับมือความท้าทาย รวมถึงการเพิ่มการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยได้นำเสนอเกี่ยวกับโครงการ Landbridge พร้อมเชิญชวนให้จีนมีการลงทุน ซึ่งนายสี ยืนยันว่านักลงทุนจีนมีความสนใจลงทุนใน mega project ของไทย

นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งไทยได้ออกนโยบาย Visa Free ชั่วคราวสำหรับชาวจีน เพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการไปมาหาสู่ของประชาชนทั้งสองประเทศได้มากขึ้น จึงเสนอให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาการตกลงเรื่องการยกเว้นตรวจลงตราระหว่างกันด้วย

ในส่วนความร่วมมือด้านความมั่นคง นายสี ยืนยันความร่วมมือกับไทยในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และส่งผลต่อการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยร่วมกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ปัญหา Call Center การพนันออนไลน์ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด

สำหรับความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ไทยและจีนได้หารือร่วมกันถึงแนวทางสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation: MLC) อาเซียน-จีน และสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาคและโลก

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ยังได้กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา Thailand – China Investment Forum โดยระบุว่าไทยในฐานะศูนย์กลางอาเซียนสามารถเชื่อมต่อเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งรัฐบาลมีแผนจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว พร้อมทั้งยกระดับระบบคมนาคมและขนส่งของไทย จึงเป็นโอกาสในการยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ จีนและไทยได้ร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก ทำให้ไทยได้รับสิทธิยกเว้นอากร หรือลดอัตราอากรศุลกากร และกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ACFTA) ซึ่งส่งผลให้ภาษีสินค้านำเข้าเป็น 0 มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด จึงตั้งเป้าเปิดตลาดสินค้าเพิ่มในหมวดสินค้าอ่อนไหว เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ได้มีการพบปะกับภาคธุรกิจเอกชนหลายราย อาทิ CITIC Group Corporation บริษัทเอกชนรายใหญ่ของจีน,  CRRC Group รัฐวิสาหกิจจีนที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก,  บริษัท Ping An Group ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของจีน, บริษัท Xiaomi ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีนวัตกรรมขั้นสูง สร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลที่หลากหลาย, บริษัท Alibaba International Digital commerce Group  ซึ่งเป็นธุรกิจ e-commerce รายใหญ่ของจีน  รวมทั้ง Tencent ยักษ์ใหญ่วงการอินเทอร์เน็ตของจีน และ บริษัท Huawei เป็นต้น ซึ่งล้วนมีความสนใจในเรื่องการลงทุนในไทย

ดังนั้น การเดินทางไปเยือนจีนในครั้งนี้ นอกจากไทยจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการไปเยือนเพื่อโรดโชว์ประเทศไทยแล้ว ท่าทีความเป็นมิตรที่ได้รับจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ต้องถือว่าเป็นทิศทางความสัมพันธ์ที่งดงามยิ่ง

สอดคล้องกับที่ปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย มูลค่าการค้ารวมเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 105,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ จีนยังเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งของไทย โดยในปี 2565 มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 158 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 77,381 ล้านบาท

จากนี้คงต้องจับตามองความร่วมมือที่เข้มข้นในอนาคตของไทยและจีนต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *